วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/1

 




พระอาจารย์
16/1 (570815A)
15 สิงหาคม 2557



พระอาจารย์ – นั่นน่ะ คำสอนแผ่นใหญ่ๆ ก่อนขึ้นบันไดนั่นแหละ ...ให้อ่านทุกวัน อ่านแล้วเอาไปทำ มันก็รวม...การปฏิบัติทั้งหมดก็อยู่ที่เดียวกัน ไม่มากเรื่องมากราวอะไร

มัวแต่ไปค้นคิดค้นหากัน ทำให้มันเป็นการปฏิบัติธรรมแบบสุรุ่ยสุร่าย จับจ่ายใช้สอย...ใช้จิต ใช้ความคิด ใช้อารมณ์ อยู่ตลอด ...มันก็ไม่เข้าแนวทางของมรรค

การปฏิบัติธรรม...ทั้งหมดเพื่อมุ่งเข้าไปสู่ความเป็นจริง ...ไม่ใช่ไปหาสิ่งที่ไม่จริงมาเป็นเครื่องภาวนา หรือภาวนาเพื่อค้นหาความไม่จริง...มาเป็นมรรคมาเป็นผล มาเป็นความรู้อะไรก็ตาม

เพราะนั้นสิ่งใดที่ไม่จริง ...มันก็ต้องดูตั้งแต่เบื้องต้นไปว่า อะไรที่มันเป็นความปรากฏหรือเกิดขึ้นมาด้วยความปรุงแต่ง ด้วยอำนาจของกิเลสนี่ มันล้วนแล้วแต่เป็นความไม่จริงทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น กิเลสมันอยู่ที่ไหน มันมาจากไหน  จุดเริ่มต้น ต้นตอของกิเลสมันคืออะไร ...ท่านก็กล่าวไว้อย่างชัดเจนในปัจจยาการแห่งการเกิด ปัจจยาการแห่งการดับ

ว่าอวิชชานี่มันเป็นตัวต้นตัวแรก  ความไม่รู้...มันเป็นปัจจยาแห่งการเกิดขึ้นมาของสังขาร แล้วสังขารมันจึงปัจจยาออกมาเป็นวิญญาณ วิญญาณเป็นนามรูป

นามรูปเป็นสฬายตนะ สฬายตนะเป็นผัสสะ ผัสสะเป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เป็นภพเป็นชาติ เป็นชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส

นั่นล่ะเส้นสายของการเกิด มาจากกิเลสทั้งสิ้น ...มันรวมครอบหมด ทั้งนามทั้งรูปที่ปรากฏ อายตนะ ผัสสะ การสัมผัสสัมพันธ์ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ...เหล่านี้คือกิเลสทั้งสิ้น มาจากกิเลสทั้งสิ้น

จุดเริ่มต้นของกิเลสก็คืออวิชชา ปัจจยาตัวแรกคือสังขาร คือจิตสังขาร กายสังขาร วจีสังขารเพราะนั้นอะไรที่พูดมาทั้งหมดนี่ มันล้วนไม่มีอยู่จริงทั้งสิ้น

แต่ในทางกลับกันน่ะ ด้วยความไม่รู้ของเรานี่ ที่เป็นผู้ใช้อำนาจของกิเลสชี้นำ ...มันกลับเชื่อว่าทุกอย่างที่พูดมาทั้งหมดนี่จริงหมดเลย มีอยู่จริง ตั้งแต่นามรูป ผัสสะ เวทนา ภพ-ชาติ สุขทุกข์อะไรต่างๆ

แล้วก็ไปดิ้นรนขวนขวายอยู่ในความเป็นไปเหล่านี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปบนความไม่มีอยู่จริงทั้งสิ้น ...นั่นคือความโง่งมของความไม่รู้

การภาวนาก็คือการกลับมาอยู่ หรือว่ามุ่งตรง มุ่งไปสู่ความเป็นจริง ...การที่มุ่งตรงไปสู่ความเป็นจริงน่ะ พระพุทธเจ้าก็วางหลัก บอกหลักไว้ว่าคือมรรคแปด คือศีลสมาธิปัญญา...ไตรสิกขา

เพราะนั้นความเป็นจริงเบื้องต้น เบื้องแรกเลยนี่...ที่เป็นเครื่องยืนยันความเป็นจริง มีอยู่จริง ปรากฏอยู่จริง ทุกปัจจุบันเลย มันไม่หลีกหนีไปจากศีลหรือว่าปกติปัจจุบันกายนี่

นี่คือความเป็นจริงสิ่งแรก...ที่มีอยู่ตลอดเวลา แสดงความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา แสดงความปรากฏอยู่จริงอยู่ตลอดเวลา

เพราะนั้นการภาวนาก็มุ่งตรงไปสู่ความเป็นจริง...เบื้องต้นเบื้องแรกคือกายคือศีลนั่นเอง ...การค้นคว้าหาความเป็นจริง ก็คือการค้นคว้าหาอยู่บนรากฐานของกายนั่นเอง ไม่ได้ไปหาที่อื่นเลยความเป็นจริงนี่

เพราะนอกจากนี้ไป ทั้งหมดสิ้นไปตลอดสายแห่งการเกิดมาของอวิชชา ตลอดเส้นทางของมันเลยคือความไม่จริงทั้งสิ้น ...ก็ไม่ต้องไปหา มันไม่มีอะไรอยู่จริง

แต่มันก็คอยพยายามจะก่อเกิดความไม่จริงมาเสนออยู่ตลอด เพื่อให้ได้รับการตอบสนองแห่งเรา

เพราะนั้นช่องทางการออกมาของกิเลสน่ะ ก็บอกแล้วว่า...มันมาจากจิตสังขารนั่นเอง เป็นตัวต้นๆ ของการปัจจยาการ คือจิตปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้น การที่มันจะเรียนรู้ความเป็นจริงของกายอย่างชัดเจนชัดแจ้ง ...มันจะต้องระงับจิตให้ได้ ด้วยอำนาจของสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นกลาง

ถ้าไม่อย่างนั้น ถ้าไม่มีอำนาจของสมาธิจิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นกลางนี่ ...จิตมันก็จะทำงาน ด้วยการปรุงแต่งภาษา ความหมาย บัญญัติ สมมุติ ความเห็น ความเชื่อ รูปลักษณ์ อดีต-อนาคต

เนี่ย ล้วนแล้วแต่มันจะสร้างต่างๆ นานา ก็เรียกว่าเป็นนานาสาระ...แต่ไม่มีสาระอยู่ตลอด ... และเมื่อจิตมันสร้างหรือว่าปรุงแต่งอาการต่างๆ เหล่านี้มานี่ มันไม่ได้ปรุง มันไม่ได้สร้างขึ้นมาลอยๆ 

มันปรุงมันสร้างแล้วมันมาจับ มันมาหมาย...ทับถมบนความเป็นจริงคือกาย คือสิ่งที่เนื่องด้วยกายบ้าง คืออายตนะ ทางตา ทางหู ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส

เมื่อมันมาปรุงแต่งทับซ้อน ทับถมลงบนความเป็นจริง ...มันก็ไปทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าปิดบังความเป็นจริง หรือว่าทำให้ความเป็นจริงนั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ด้วยความคิดความเห็นต่างๆ นานา

จึงบอกได้ว่า ถ้าไม่มีจิตที่มันตั้งมั่นเป็นกลาง เป็นหนึ่งแล้วนี่ ...มันจะไม่รู้จักความเป็นจริงแห่งกายเลย ว่ากายที่แท้จริงนั้นคืออะไร

มันจะไม่เกิดความชัดเจนถ่องแท้ในความเป็นจริงแห่งกาย แห่งขันธ์ แห่งโลกนี้เลย ...กับสิ่งที่เนื่องด้วยกายคือโลก อายตนะทั้ง ๖ ผัสสะทั้ง ๖ คือโลกภายนอกขันธ์

มันก็จะถูกบิดเบือน ด้วยความหมายบ้าง ด้วยสมมุติบ้าง ด้วยความเชื่ออยู่ตลอดเวลา ...ทำให้เกิดภาวะยึดมั่นถือมั่นไปตามความเชื่อความเห็นนั้นๆ

ทั้งตัวของมันเอง และตัวผู้อื่นที่เข้ามามีความเห็นซ้ำซ้อนกัน ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ...ก็เกิดเป็นกิเลส เป็นราคะ เป็นปฏิฆะ ...สืบเนื่อง

เพราะนั้นกิเลส หรืออารมณ์ หรือธรรมารมณ์นี่ มันจะเกิดขึ้นจากการที่จิตนี่เข้าไปหมาย...หมายถูก-ผิด หมายดี-ร้าย หมายคุณ-โทษ หมายมาก-น้อย หมายมี-หมายเป็น หมายไม่มี-หมายไม่เป็นขึ้นมา  

มันจึงเกิดเป็นสภาวะ...ทุกข์แห่งเรา สุขแห่งเราขึ้นมา...ตามที่มันหมายมากหมายน้อยไว้ ...ก็คือเป็นทุกข์มากทุกข์น้อยนั้นขึ้นมา

เพราะนั้นการที่จะทำให้รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง กับสิ่งที่เรียกว่าเป็นความเป็นจริงนั้น ...เบื้องต้นก็จากที่มันตั้งสมมุติฐาน ด้วยความเชื่อ ด้วยศรัทธาว่าศีลหรือกายนี้มีอยู่จริงก่อน

ตอนนี้มันยังไม่เชื่อ ...แต่ต้องสมมุติฐานขึ้นมาก่อนด้วยศรัทธา จากคำบอกกล่าวเล่าสอนของพระพุทธเจ้า หรือของผู้รู้จริงภายนอกคือครูบาอาจารย์

ก็ตั้งสมมุติฐานขึ้นมากำกับตัวเองว่า กายนี้มีอยู่จริง น่าจะเป็นจริง …แล้วทีนี้ก็ปรารภความเพียรขึ้น วิริยะ...ที่จะมุ่งตรงต่อกายเดียว ปัจจุบันกาย ปัจจุบันเดียว...เป็นหลัก

ไม่ให้จิตมันเพ่นพ่าน คิดนึกปรุงแต่งไปมา เอานี้เอานั้นเอาโน้น บุคคลนั้นบุคคลนี้ สถานที่นั้นสถานที่นี้ มาเป็นอารมณ์ มาเป็นจริงเป็นจัง มาเป็นที่มั่นที่หมาย

ก็มาปรารภเอากายตามสมมุติฐานนี่...ที่ว่าน่าจะจริงกว่านี่ มาเป็นที่มั่นที่หมาย ที่เดียว ...ซ้ำๆ ซากๆ ไม่โลเล ไม่เหลาะแหละ ไม่เลือกที่รักไม่มักที่ชัง ไม่มีทางเลือกอื่น

ไม่ปล่อยให้มันมีโอกาสได้เลือกในธรรมต่างๆ นานา ที่นอกเหนือจากกายนี้ไป ...โดยจิตน่ะมันจะเป็นผู้เสนออยู่ตลอด ด้วยความยินดีพอใจบ้าง ด้วยความไม่พอใจยินดีแห่งจิตเราบ้าง

ก็เพียรที่จะไม่ไปตามมัน ไม่ไปตามอำนาจแห่งมัน ไม่ไปทำตามอำนาจมัน ไม่ไปแต่งต่อเติมมัน ไม่ไปคาดหมายอะไรกับมัน ...ก็มามุ่งตรงลงที่กายปัจจุบันกายเดียว

จากเจตนาที่มันมุ่งตรงลงต่อที่เดียว ไม่ไปเกาะเกี่ยวในที่อื่น หรือไปหาที่อื่นมาเป็นที่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวรั้ง ...จิตมันก็จะค่อยๆ สงบ ระงับจากความปรุงแต่งต่างๆ นานาไป 

รวมลงเป็นหนึ่ง รวมลงเป็นรู้เป็นเห็นอยู่จำเพาะกายขึ้นมา ...จิตที่มันรวมรู้เห็นลงจำเพาะกายที่เดียวขึ้นมาอย่างโดดเด่นเป็นสง่า เป็นกลางขึ้นอยู่ภายในนี่ ท่านเรียกว่าสัมมาสมาธิ หรือว่าจิตตั้งมั่นอยู่ภายใน

เมื่อจิตมันรู้จำเพาะกายอยู่ที่เดียว โดยไม่ส่ายแส่ไปที่อื่น ...ผลของการที่จิตมันรู้อยู่ที่เดียว ไม่ไปหาความรู้ภายนอก ...มันจึงมีความรู้สึกแก่ตัวของมันเองว่าไม่มีความรู้อะไรเลย

นี่คือไม่รู้อะไรกับเรื่องราวภายนอกต่างๆ นานา อย่างที่คนอื่นเขารู้ๆ กันเลยตรงนี้ที่มันจะเกิดผล...ผลในสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธินี่

แล้วมันก็จะเป็นที่กังขาแก่ตัวมันเองว่า...การทำอย่างนี้ มันไม่มีความรู้อะไรเลย มันไม่มีความเข้าใจอะไรเกิดขึ้นมาเลย มันไม่มีแม้กระทั่งสภาวะใดเกิดขึ้นอยู่ตรงนั้น เหมือนนักปฏิบัติธรรมผู้อื่นสำนักอื่นเลย

จิตจึงบังเกิดความโลเลขึ้นในศีล จิตจึงเกิดความโลเลขึ้นในสมาธิที่เป็นสัมมา ...แล้วจิตก็จะเริ่มทำงานค้นหาวิธีการที่จะให้ได้มา มี เป็น...ซึ่งสภาวะที่หมายปรารถนา ด้วยอำนาจแห่งตัณหาแห่งเรา

เนี่ย กิเลสมันแทรกซึมมาได้ทุกขั้นตอนของศีลสมาธิปัญญา ...เพราะอะไร ...เพราะศีลสมาธิยังไม่เกิดปัญญาโดยสมบูรณ์ ยังไม่เกิดปัญญาโดยชัดเจน ยังไม่เข้าใจปัญญาที่แท้จริง

มันเข้าใจว่าปัญญาคือต้องรู้อะไร เป็นภาษา เป็นความหมาย เป็นคำพูด เป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ 

พอมันไปถึงขั้นตอนที่ว่าจิตมันรวมเป็นหนึ่งแล้วมันไม่รู้อะไรเลย ไม่ปรุงอะไรเลย ไม่มีความคิดความเห็นอะไรเลยนี่ ...มันก็เลยเข้าใจว่าโง่ลง 

เพราะมันไม่รู้อะไร ไม่เกิดสภาวะวูบๆ วาบๆ ตื่นตาตื่นใจอะไร หรือเหมือนตำราเขาเขียนเขาบอก หรือเหมือนคำบอกเล่าของคนภาวนาที่เก่งๆ

อย่างเช่นถ้าเป็นนักภาวนาในเส้นทางเส้นสายของธรรมกาย ก็จะต้องเห็นดวงแก้ว แล้วก็จะเห็นพระในพระในดวงแก้วในฐานที่เจ็ด ถึงจะเรียกว่าเป็นไปสู่เป้าหมายของการภาวนาอย่างนั้นๆ

พออยู่ในลักษณะที่รู้กายดูกาย แล้วมันไม่มีความปรากฏขึ้นของจิต อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นลักษณะอาการใดอาการหนึ่งเหมือนเขา ...ก็เกิดความโลเลเหลาะแหละในธรรม ในการปฏิบัติของตัวเอง

ทั้งๆ ที่ว่า...มันตรงต่อความหมายของศีล มันตรงต่อความหมายของสมาธิอยู่แล้ว ความหมายของศีลก็แปลว่า...ปกติกาย ความหมายของสมาธิก็แปลว่า...ระงับกายสังขาร จิตสังขาร วจีสังขาร

ถ้ามันเป็นสมาธิซึ่งระงับกายสังขาร จิตสังขาร วจีสังขาร ...แล้วมันจะเกิดอะไรในจิตขึ้นมาได้เล่า มันจะเกิดนิมิตอะไรบ้าบอขึ้นมาได้ มันจะเกิดสภาวะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งขึ้นมาได้

มันจะเกิดความรู้ความเห็นเป็นภาษา เป็นคำพูด เป็นความหมายอะไรขึ้นมาได้เล่า ...ก็มันระงับน่ะ ระงับจิตสังขารน่ะ ...มันก็ต้องอยู่ด้วยความเงียบงันน่ะสิ

แต่ไอ้กิเลสตัวเจ้าปัญหานี่ มันก็เกิดความสงสัยในความเงียบงันนั้นว่า...มันจะเกิดความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาจากความเงียบงันนี้

แล้วมันก็พร้อมที่จะกลับไปโง่เหมือนเดิม โง่แบบเดิม โง่อย่างคนอื่น โง่อย่างที่คนในโลกเขาทำ โง่อย่างที่นักปฏิบัติเขาทำ ...ก็วนไป 

เรียกว่าก้าวข้ามไม่พ้นศีล-สมาธิ จนถึงปัญญา ...นี่แค่สมาธิยังก้าวข้ามไม่พ้นเลย ไม่ทะนุถนอม ไม่บำรุงรักษา ไม่คงอยู่ ไม่ต่อเนื่อง ไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นความสำคัญ

จะไปเอาดวงแก้วอีกแล้ว จะไปเอาพระพุทธรูปโผล่ขึ้นกลางฐานที่เจ็ดเหนือสะดือสองนิ้ว จะไปเอาเห็นกระดูกกระเดี้ยว อสุภะอสุภัง จะไปเอาเห็นเทวดานางฟ้าอินทร์พรหม

จะไปเอาแสงสว่าง จะไปเอาพระพุทธเจ้ามาโปรด จะไปเอาสภาวะต่างๆ ...ไม่รู้กี่อย่างที่มันจะเอาในระหว่างที่มันนั่งภาวนา ยืนภาวนา เดินภาวนา นั่งนอนภาวนา

ถ้ามันไม่ได้อะไรขึ้นมาระหว่างการภาวนา ..มันก็จะนึกกับตัวเอง บอกกับตัวเอง แล้วก็บอกกับคนอื่นว่า...ภาวนาแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ความก้าวหน้าในธรรมก็ไม่ได้ ความรู้ในธรรมก็ไม่เกิด 

อย่างนี้ ไปตายซะ ไปเกิดใหม่ซะดีกว่ามั้ย ...ไม่เช่นนั้นก็ต้องอดทนต่อจิตที่มันจะสร้างความลังเลขึ้นมา สร้างความคิดเห็นต่างๆ นานาขึ้นมา...ก็ไม่เอา 

ถ้าอยู่ในระหว่างที่จิตมันตั้งมั่นดีในระดับเริ่มต้นแล้วนี่ ก็พยายามตัดมันทิ้งไป อย่าไปเติมเสริมแต่งมันขึ้นมาให้เป็นเรื่องเป็นราวใดๆ ก็ตาม...ทั้งในแง่บุญ ทั้งในแง่บาป ทั้งในแง่มรรค ทั้งในแง่ผล...ไม่เอา 

ใจแข็งๆ เข้าไว้ ...อย่าไปอ่อนแอต่อกิเลส อย่าไปอ่อนแอต่อความคิด อย่าไปอ่อนแอต่ออารมณ์ ...อยากได้อารมณ์ อยากได้สภาวะ เดี๋ยวมันจะเป็นบ้าเป็นหลังตามๆ กันไปหมดทั้งโลกของผู้ปฏิบัติ 

ก็ตั้งใจไว้ ตั้งใจให้มั่นขึ้น...ยิ่งๆ ขึ้น  พากเพียรอยู่ในจิตเดิม ที่เดิม รู้แบบเดิม รู้เท่าเดิม กับกายหนึ่ง ...ไม่ย่อท้อ ไม่หวั่นไหวไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง...ทั้งตัวเอง ทั้งของผู้อื่น  

กับผู้อื่นก็อย่าไปฟังมาก เอาตาไปอ่านมาก ...ก็รักษาจิตให้เป็นหนึ่ง ให้ต่อเนื่องไป อยู่กับกายไป 

อย่าลืม อย่าหาย อย่าห่าง อย่าขาด อย่าให้มันเว้นวรรคขาดตอน ...มันจะเกิดช่องทางของความเผลอเพลิน ปรุงแต่งเป็นความคิดนั้นเป็นความคิดนี้ เป็นความน่าจะเป็น ไม่น่าจะเป็น อะไรขึ้นมา


(ต่อแทร็ก 16/2)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น