วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/15



พระอาจารย์
16/15 (570922A)
22 กันยายน 2557


พระอาจารย์ –  นี่ทำอะไร

โยม –  เป็นอาจารย์สอนร้องเพลงครับ แล้วก็เรียนหนังสืออยู่

พระอาจารย์ –  สนใจภาวนาหรือ เคยภาวนาบ้างรึเปล่า

โยม –  ตอนเด็กๆ ผมเคยสนใจเรื่องธรรมะ แต่พอโตมาเวลาจะทุ่มเทให้ไม่ต่อเนื่อง แล้วก็ในปัจจุบันนี่ เรียกว่าแทบจะไม่ได้ภาวนาเลยครับ   

พระอาจารย์ –  (ถามโยมอีกคน) แล้วนี่เป็นยังไงบ้างล่ะ


โยม –  ก็พอเข้าใจค่ะ ...มีวันหนึ่งไปเจอธรรมะที่อ่านแล้วมันได้คำตอบในคำถาม ก็คือ...ถ้าจะปล่อยวาง จะไม่มีคำว่าเหตุผล ...ก็เลยรู้ว่าคำตอบคืออะไร ก็เลยพอจะเข้าใจ  แต่ว่ายังทำน้อยมากค่ะ 

พระอาจารย์ –  การละการวาง มันไม่มีเหตุมีผลอะไรหรอก ละโดยฉับพลัน ทันใจ ...หยุดความตั้งใจ

ถ้าไม่ตั้งใจละ มันก็เยิ่นเย้อ ต้องคิดให้จบ ต้องคิดให้ได้ก่อนค่อยวาง อย่างนี้ มันไม่มีหรอก ...วางก็คือวาง กลับมาหยุดอยู่ในปัจจุบัน...โดยไม่มีข้อแม้


โยม –  มีอยู่อันหนึ่งที่หนูเคยถาม แล้วหลวงพ่อเคยบอกหนูว่า มันดื้อและมันไม่ยอมฟัง คือทุกวันนี้มันก็รู้อยู่ว่ามันเป็นได้แค่นี้ แต่มันก็ยังไม่ยอม ก็จะเอาแบบว่าให้มันถึงที่สุดให้ได้ ก็สู้รบตบมือกับตัวเองอยู่ตรงนั้น 

พระอาจารย์ –  การสู้กับกิเลสก็เหมือนกับทำสงครามกันนั่นแหละ 

มันใช้กิเลสมานาน อยู่กับกิเลสมาจนติดสนิทแนบ จนเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกัน สมานกัน ...ทีนี้พอจะละ จะเลิก จะปล่อยมันน่ะ มันไม่ยอมปล่อยง่ายๆ หรอก ...มันก็เกิดภาวะขัดขืน 

ทั้งๆ ที่ว่าความเป็นจริงทั้งหมดมันไม่มีอะไรหรอก มันไม่มีอะไรสักอย่าง ...นี่คือการเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเอง  มันหล่อหลอมตัวมันเองขึ้นมา มันเลยมีความเป็นบุคคล ความเป็นสัตว์ ความเป็นตัวเราขึ้นมา 

จากที่มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นของว่างเปล่าทั้งหมด ...มันก็มาทำให้มีตัว "เรา" ขึ้นมา มีน้ำหนัก มีชีวิต มีเลือดเนื้อเชื้อไขขึ้นมา ดูเหมือนมันเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง 

แต่จริงๆ ถ้าไล่ไปถึงต้นเหตุต้นตอของมันแล้วนี่ จริงๆ มันไม่มี...มันไม่มีอะไรสักอย่างเลย

แต่พอมันมีอำนาจขึ้นมา...เพราะเราสะสม แล้วเราให้อำนาจแก่มัน ลุแก่อำนาจกับมันแล้วนี่ ...มันก็ยิ่งทำความเข้มข้นในความเป็นตัวตน เป็นชีวิตของเราขึ้นมา...ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่สูญสิ้น ไม่แตกดับเลยน่ะ 

ถ้าเพียรพยายามในการละการวางอยู่เสมอ....คือไม่เป็นไปหรือไม่กระทำตามอำนาจแห่งมันนี่ ...มันก็เหมือนกับเป็นการลิดรอนอำนาจมันไป 

ตัดทอนกำลังแห่งความมี-ความเป็นของตัวเราของเรานี่แหละไป จนกว่ามันจะอ่อนระโหยโรยแรงไป ...มันก็จะค่อยๆ ราบคาบ ราบเรียบลงไป

เพราะนั้นการที่มันจะควบคุมอำนาจแห่ง "เรา" ไม่ให้มันเผยอผยองขึ้นมานี่ ...มันไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ไหนจะเท่ากับศีลสมาธิปัญญาหรอก 

ที่มันจะคอยควบคุมอำนาจแห่ง "เรา"ไว้...ไม่ให้มันเกิดลักษณะที่ชี้นิ้วสั่งการ บงการให้การกระทำ คำพูด...เป็นไปตามอำนาจแห่ง "เรา"

เพราะนั้นอำนาจแห่ง "เรา" นี่ จุดเริ่มต้นของอำนาจแห่งเรานี่ ที่มันสามารถจะบงการขันธ์ บงการชีวิตได้นี่ ...จุดเริ่มต้นมันมาจากจิตทั้งหมดน่ะ จิตที่มันปรุงแต่ง

จิตสังขารนี่แหละ เป็นตัวที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้มีการกระทำคำพูดอะไรออกไป ...ซึ่งจะเป็นการลุอำนาจแห่งเรา เพื่อให้...ได้มา,มี,เป็น...ในประโยชน์แห่งเราเกิดขึ้น

เพราะนั้นการฝึกฝนอบรม หรือการภาวนา ...จึงเรียกว่าเป็นการอบรม สำรวมจิต ไม่ให้มันพลุ่งพล่าน ไม่ให้มันคิดนึกปรุงแต่งไปไกลไปยาว ไม่ให้มันสร้างอารมณ์อยู่เสมอ ...มันคือการฝึกจิต

คือมันต้องอยู่ในขั้นตอนที่เรียกว่าฝึกจิต คอยรวบรวมจิตไม่ให้มันแตกกระสานซ่านกระเซ็นออกไป ...เพราะพวกเรากำลังอยู่ในขั้นที่เรียกว่ายังห้ามจิตไม่ได้ ยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่าคุมจิตไม่อยู่ 

เพราะนั้นถ้าไม่ได้เข้าใจกำลังขั้นตอนตามลำดับของการภาวนานี่ ...มันจะทำการภาวนาแบบข้ามขั้นตอน ไปมุ่งทำในสิ่งมันไม่ใช่ขั้นตอนนั้น

การภาวนาในลักษณะที่พระพุทธเจ้าท่านวางวิถีแนวทางไว้นี่ มันจะเป็นลักษณะที่ค่อยๆ ลุ่มลึกไปตามลำดับ ...ไม่ใช่ข้ามขั้นตอน ไม่ใช่ปฏิบัติผิดธรรม ไม่เป็นไปตามธรรม ไม่เป็นไปตามครรลองธรรม

เพราะนั้นการปฏิบัติมันจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอน อย่างลุ่มลึก...ค่อยๆ ลุ่มลึก ...เหมือนกับถ้าเป็นเส้นกราฟ มันก็จะเป็นกราฟแบบ down trend น่ะ มันค่อยๆ ลดๆๆ

จะไปเอาแบบ...ปึ้บ ลดฮวบเลย แล้วก็จะคุมให้ได้อย่างนี้ เอาแบบไม่ให้มันกระดิกกระเดี้ยเลยอย่างนี้...ผิดแล้ว ...มันเป็นไปไม่ได้ มันเกินกำลัง

ศีลก็ยังไม่มี สมาธิก็ยังไม่มั่น ปัญญาก็ยังไม่เต็มพร้อม ...มันไม่สามารถหรอกที่จะควบคุมอำนาจแห่ง "เรา" ให้มันอยู่ในกำมืออย่างนั้น ...เป็นไปไม่ได้

ถ้าไปเข้าใจผิด หรือว่าไปจะเอาตรงจุดสุดยอดตรงนั้นเลยนี่ ...ทีนี้มันส่งผลเกิดขึ้น...คือตัว "เรา" มันก็จะพลิกสร้างอารมณ์ออกมาในลักษณะที่เป็นปฏิฆะ

คือมีความหงุดหงิด โกรธเคือง ขุ่นมัว ไม่พอใจในการปฏิบัติของตัวเอง ในการกระทำ ในการดำรงชีวิต ...ทีนี้มันก็เกิดภาวะพวกนั้นพวกนี้ขึ้นมาแล้ว

แต่ถ้าการปฏิบัติมันเป็นแบบค่อยเป็นไป และเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติ โดยที่ไม่ข้ามขั้นตอน แล้วก็ไม่เอาผลมาเป็นตัววัด ...มันก็เป็นในลักษณะที่ค่อยๆ ตะล่อม...ตะล่อมจิตๆ

ไม่ใช่ว่าไปหยุดจิตโดยฉับพลัน...หยุดไม่ได้หรอก ...กิเลสเท่าฟ้าเท่าแผ่นดิน  ความอยาก ความปรุงแต่งที่มันอยู่ข้างในของเรานี่...เราไม่รู้หรอกว่ามันเท่าไหร่

ยิ่งกว่าแผ่นฟ้าผืนมหาสมุทร มากมายมหาศาล...ที่มันมีแรงผลักดันอยู่ตลอดเวลา ...แล้วก็ยังไม่ได้รับชะล้าง ลบล้าง หรือทำให้อ่อนกำลังลงเลย

อยู่ดีๆ จะมาจับให้มันห้ามคิดห้ามนึกนี่...ไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้เลย ...หรือว่าถ้าทำได้ ก็ทำได้แค่ชั่วขณะหนึ่ง...แต่ชั่วขณะหนึ่งนี่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดแล้วว่า สามารถกระทำได้ตลอดเวลา

พอมันไม่ได้ตลอดเวลา หรือไม่ได้ดั่งที่มันปรารถนา ...ทีนี้ก็เริ่มโทษนั้นโทษนี้แล้วว่า...วิธีการผิด อาจารย์สอนผิด พระพุทธเจ้าสอนไม่จริง

เพราะนั้นน่ะ ในท่ามกลางที่มันยังมีความคิดนึกปรุงแต่ง และยังไม่ยอมแล้วไม่ยอมเลิกนี่...ห้ามก็ห้ามไม่ได้ บอกให้หยุดมันก็ไม่หยุด บอกให้มันอยู่มันก็ไม่อยู่

การแก้ไข การฝึกในลักษณะอย่างนี้ ...มันจะต้องฝึกในลักษณะที่...ต้องคอยเอาศีลสมาธิปัญญานี่สอดแทรกลงไป ...เพราะนั้นตัวศีลสมาธิปัญญามันอยู่ตรงไหน อยู่ที่ไหน...ก็คือคำว่า "รู้ตัว" 

ก็คอยเอาความรู้ตัวนี่แทรกเข้าไป...ท่ามกลางอารมณ์ ท่ามกลางความคิด ท่ามกลางความทะยานอยาก ท่ามกลางการกระทำคำพูดนี่  ต้องคอยเอาศีลสมาธิปัญญานี่ คอยสอดแทรกลงไป...บ่อยๆ

เพราะในศีลสมาธิปัญญาในระดับอย่างนี้ มันไม่สามารถจะคงทนหรอก มันยังไม่มั่นคง ...พอสอดแทรกลงไป เดี๋ยวมันก็หาย เดี๋ยวมันก็ล้มละลายหายไป

ด้วยอำนาจของกิเลสมันพัดพาชักนำออกนอก ด้วยอำนาจแห่งจิต ด้วยอำนาจแห่งความอยาก ด้วยอำนาจตัณหาอุปาทานน่ะ ...มันก็จะมากลบ พัดพาความรู้ตัวให้สลายจางไป

ซึ่งผู้ปฏิบัติมันก็ต้องรู้ว่า...ระดับขั้นตอนของธรรมบทนี้บาทนี้ ช่วงนี้มันจะต้องเป็นอย่างนี้ ...มันไม่มีวิธีอื่นหรอก นอกจากว่าทำลงไปซ้ำอีกๆๆ 

ก็รู้ตัวลงไปอีก...บ่อยๆ ซ้ำซากลงไป ...ไม่ไปเปลี่ยนวิธีการ ไม่ไปเปลี่ยนวิธีวางจิตกำหนดจิตยังไง ...ก็รู้ตัวลงไปแบบเดิมแบบเก่านั่นแหละ

ทีนี้ ถ้ามันทำอยู่อย่างนี้บ่อยๆ ...ความสืบเนื่อง ความต่อเนื่องของกิเลสนี่ มันก็เกิดภาวะที่เว้นวรรคขาดตอนลงไป มันก็จะมีช่วงว่างช่องว่างของกิเลส

ไม่ใช่ว่ากิเลสมันจะฟุ้งซ่านปรุงแต่งได้ตลอดเวลานาทีหรอก ...มันก็จะมีบางช่วงบางจังหวะ ที่กิเลสหรือความคิดนึกปรุงแต่งหรืออารมณ์นี่ มันอยู่ในภาวะที่มันเหมือนคลื่นลมสงบบ้าง

ทีนี้มันสำคัญว่าผู้ภาวนานี่...พอมีลักษณะคลื่นลมสงบบ้างอย่างนี้ แล้วก็ไปประมาทตายใจอีก ปล่อยเผลอเพลินล่องลอย คิดจะทำนั่นทำนี่อะไร

แทนที่มันจะใช้ช่วงนั้นน่ะ...ที่มันเป็นช่วงที่กิเลสมันไม่ลุกฮือลุกโหมขึ้นมา ...ก็มาพอกพูนกำลังของศีลสมาธิปัญญาให้มันเข้มงวดกวดขันแข็งแกร่งขึ้น

ก็ตักตวงเวลาตอนนั้น ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการรู้ตัวอย่างเข้มงวดจริงจัง เพื่อรักษาความต่อเนื่อง

เพราะว่าเมื่ออยู่ในช่วงนั้นน่ะที่กิเลสไม่ลุกฮือ ...การรักษาความต่อเนื่องในศีลสมาธิปัญญามันทำได้ง่าย มันไม่ขาดสาย มันไม่ขาดระยะไปง่ายๆ

แต่มันก็มามัวขี้เกียจขี้คร้าน ปล่อย พัก ลอย ...ปล่อยจิตเลื่อนลอย ไหลเลื่อน เคลื่อน กระจัดกระจายไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้...ด้วยโมหะ ...ทีนี้มันจะเอากำลังที่ไหนล่ะมาสู้ 

ก็มันไม่เคยสะสมกำลังของศีลสมาธิปัญญาแบบเป็นชิ้นเป็นอันต่อเนื่องเลยน่ะ ที่จะมาสู้รบตบมือกับเวลาที่กิเลสมันลุกฮือ อารมณ์มันลุกฮือ...โหมลุกกระพือขึ้น

เพราะกิเลส หรืออารมณ์ หรือความคิดนึกปรุงแต่งนี่ ...มันไม่มีนิมิตหมายว่ามันจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้น  ในตอนไหน เวลาใด กับบุคคลไหน 

มันสามารถพร้อมที่จะเกิดได้ตลอดเวลาเลย ...ตราบใดที่ยังคลุกเคล้าอยู่ในโลก ตราบใดที่ยังมีตาหูจมูกมีลิ้น มีกาย มีจิตมีใจอยู่ ...มันสามารถกระทบอายตนะผัสสะตลอดเวลา

นี่่ ที่มันจะไปสะกิดให้เกิดอุปาทานขันธ์ อุปาทานทุกข์ได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ด้วยอำนาจแห่งเราที่มันยังไม่ตาย ที่มันยังฝังอยู่ภายในกายใจของสัตว์บุคคลนั้นๆ

ทีนี้ถ้าหมั่นขยัน ฝึกจิต ฝึกตัวเอง ให้เป็นผู้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาอยู่เสมอ อยู่กับศีลสมาธิปัญญาทุกเมื่อ...แม้แต่จะไม่มีเรื่องราวอารมณ์ใดอยู่ตรงนั้น อยู่ระหว่างนั้น อยู่ต่อหน้านั้นก็ตาม

มันก็เป็นนาทีทองที่จะตักตวง พอกพูนเจริญกำลังของศีลสมาธิปัญญาสะสมไว้ ...ทำความรู้ชัด ทำความเห็นชัดในตัวตนแห่งกาย ในตัวจริงแห่งกาย ในความเป็นไปแห่งกาย ในความเป็นไปแห่งรู้

ไม่ต้องไปคิดอ่านตามตำรา ไม่ต้องไปหาธรรมตามตำรา ไม่ต้องไปเปรียบเทียบธรรมตามตำราอะไรหรอก ...แต่ศึกษาสำเหนียกด้วยการรู้ ดู เห็น

รู้เห็นว่ากายคืออะไร กายเป็นยังไง มันปรากฏยังไง มันอยู่ยังไง มันมีอาการอย่างไร ...รู้...ลักษณะของรู้มันเป็นยังไง อย่างไรเรียกว่ารู้ อย่างไรเรียกว่าคิด อย่างไรแค่รู้ อย่างไรแค่รู้เห็น

เนี่ย ทำความรู้ความเข้าใจอยู่ในสองลักษณะอาการ...กายกับใจ อยู่อย่างเนี้ย เรียกว่าทำความรู้ตัวให้ละเอียด ให้ชัดเจน ...เหล่านี้คือการอยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญาอย่างเคร่งครัด เข้มงวด

ศีลเท่าไหร่...สมาธิเท่านั้น  สมาธิเท่าไหร่...ปัญญาก็เท่านั้น ...มันก็อยู่ในแวดวงของศีลสมาธิปัญญา ซึ่งมันเป็นตัวที่เข้าไปลดทอนกำลังอำนาจของกิเลสแห่งเราโดยตรงอยู่แล้ว

ไม่ใช่ว่าต้องไปหาวิธีการใดมาลดทอนอำนาจแห่งเรา ไม่ใช่ว่าจะต้องเห็นธรรมตามที่เคยอ่านที่เคยได้ยินมา ที่เกิดสภาวะนู้นสภาวะนี้ เห็นสภาวะนั้น จึงจะลดทอนอำนาจแห่งเราได้

แค่รู้ด้วยศีลสมาธิปัญญา รู้อยู่กับตัวนี่ ...ศีลสมาธิปัญญามันเข้าไปลดทอนอำนาจแห่งเราโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว

ถ้ามีความพากความเพียรอยู่อย่างนี้ ไม่กำหนดวันเวลานาที ไม่เลือกกาลเวลาสถานที่ ...ทำอยู่ตรงนี้ เจริญอยู่เป็นกิจวัตร เรียกว่าภาวนาเป็นชีวิต ท่านเรียกว่าภาวนากันจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ภาวนาเล่นๆ

ทีนี้เมื่อถึงคราวที่กิเลสมันลุกฮือกระพือโหมขึ้นมา ก็เหมือนกับมันมีต้นทุนของศีลสมาธิปัญญาอยู่ ...กิเลสมันก็ทำอะไรไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่ถนัด

กิเลสที่มันจะทำร้ายทำลายให้เกิดความอึดอัดคับข้อง ดิ้นรนแก้ไม่ออก แก้ไม่ตก หลุดไม่ได้ หลุดไม่พ้น สลัดไม่หลุด ...มันก็ไม่เป็นไปเหมือนเดิมแล้ว

มันก็สามารถที่จะมีอำนาจที่จะต่อสู้ต้านทานกับพลังอำนาจแห่งความคิดนึกปรุงแต่ง พลังอำนาจแห่งความเป็นเราที่มันสร้างอารมณ์ที่เป็นกิเลสแห่งเราขึ้นมา

ก็ไม่ให้มันอยู่ในขีดขั้นที่เรียกว่าไม่มีลิมิทประมาณ คือไม่สามารถจะควบคุมได้อย่างนั้น ...นี่ กิเลสมันก็ถูกจำกัดไปโดยอำนาจของศีลสมาธิปัญญาที่ผู้นั้นสะสมไว้

ภาวะอารมณ์ ภาวะความคิด สภาวะความปรุงแต่งนี่ ...มันก็จะถูกจำกัดจำเขี่ยลงให้มันสั้น มันมีความสั้น มันมีความบาง มันไม่เข้มข้นขึ้น ...ลักษณะนี้คือผล...ผลแห่งการเจริญศีลสมาธิปัญญาอยู่เนืองๆ 

จนมันรับรู้ได้ถึงผลที่มันปรากฏแก่ตัวเองอย่างนี้ ...ทีนี้มันจึงมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติอยู่ในแวดวงของศีลสมาธิปัญญามากขึ้นๆ

ไอ้ที่จะต้องบีบบังคับให้มันมารู้ตัวอยู่เสมอ คอยสั่งคอยบอกให้มันต้องรู้ตัวอยู่เสมอนี่ มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น ...มันก็มีความตั้งใจใส่ใจที่จะรู้ตัวของมันเองขึ้นมามากกว่าเดิม 

ก็ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ดูดายกับศีลสมาธิปัญญาแบบแต่เก่าก่อน ...เพราะนั้นการสะสมอำนาจพลังของศีลสมาธิปัญญา มันก็จะได้รับการฟื้นฟูขึ้นอย่างเห็นได้ชัดขึ้นเอง ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ

ซึ่งแต่ก่อนมันต้องคอยบังคับ ต้องคอยดุด่าว่ากล่าวตักเตือนตัวมันเองเสมอให้รู้ตัวไว้ รู้ตัวไว้นะ  มันก็ไม่ต้องมีใครมาดุด่าว่ากล่าว...ทั้งภายในตัวเอง ทั้งภายนอกคนอื่นที่จะมาว่ากล่าวตักเตือน

มันก็เกิดความพากความเพียร ความขยัน ความใส่ใจ ความตั้งใจ ที่จะทำความรู้ตัวให้เกิดความต่อเนื่องเป็นเส้นตรงเดียวกัน ไม่ขาดไม่เว้น ไม่ห่างไม่หาย ไม่หลุด ไม่กระโดกกระเดก ไม่กระปลกกระเปลี้ย


(ต่อแทร็ก 16/16)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น