วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/17


พระอาจารย์
16/17 (570922C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กันยายน 2557


พระอาจารย์ –  เพราะนั้นก็ให้ตัดสินใจให้มันแน่วแน่ลงไป ...จะดี...ก็รู้ตัว...ที่ตัว ...จะร้าย...ก็รู้อยู่...ที่ตัว  ...จะสุขก็รู้...ที่ตัว ...จะทุกข์ก็รู้...ที่ตัว

จะเดือดเนื้อร้อนใจก็รู้...ที่ตัว ...จะอึดอัด คับ ข้อง ก็รู้...ที่ตัว ...จะฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ  จะแก้ไม่ตก จะดิ้นไม่ออก...ก็รู้ลงที่ตัว

เนี่ย จึงเรียกว่าเอาศีลสมาธิปัญญาถ่ายเดียวเป็นตัวแก้ ...ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่โต ลำบาก เป็นสุขมาก-สุขน้อย เป็นทุกข์มาก-ทุกข์น้อย...ก็รู้ที่ตัว

โดยไม่ต้องไปพลิกแพลงอะไรน่ะ ...รู้ลงไปที่ตัวแบบซื่อๆ ตรงๆ ลงไป...ท่ามกลางอารมณ์ที่มันขมุกขมัว พัวพัน หนัก ทับถม

จนกว่าพละกำลังแห่งคำว่ารู้ตัวนี่ มันมีในตัวของมันเองขึ้นมาเรื่อยๆ จนว่ากำลังของศีลสมาธิปัญญามันเหนือกว่ากำลังของกิเลสทั้งหลายทั้งปวงเอง

เสร็จแล้วกำลังของศีลสมาธิปัญญาหรือกำลังแห่งความรู้ตัว ที่มันมีน้ำหนัก มันมีอำนาจ มันมีพลังเหนือกว่า ...มันจะไปทับอารมณ์ของกิเลส

ที่แต่ก่อนนี่อารมณ์ของกิเลสมันมาทับกายใจ มันมาบดบังกายใจ แต่ต่อไปนี่ ที่เราฝึกไปเรื่อยๆ ในการรู้ตัว อะไรเกิดขึ้นก็รู้ตัว อะไรไม่เกิดขึ้นก็รู้ตัว อะไรดีก็รู้ตัว ร้ายก็รู้ตัวนี่

ตัวความรู้ตัวหรือพลังของศีล-สมาธิ มันจะไปทับเหนืออำนาจของกิเลส มีพลังเหนือกว่า มีน้ำหนักมากกว่า ...กิเลสมันจะมีอำนาจมาเป็นความเศร้าหมองขุ่นมัว อึดอัดคับข้องไม่ได้แล้ว

จึงได้ชื่อ จึงได้เรียกขานผู้นั้นว่า...เป็นผู้ที่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นสรณะ ...ไม่พึ่งกิเลสแล้ว ไม่พึ่งอารมณ์เป็นที่อยู่ที่อาศัยแล้ว

ไม่พึ่งความคิดเป็นตัวแก้ปัญหาแล้ว ไม่พึ่งการกระทำคำพูดแห่งเราเป็นตัวลุล่วงปัญหา แก้ปัญหา สร้างสุขสร้างทุกข์แล้ว ...มันไม่อาศัยแล้ว

อาศัยลำพังแต่ศีลสมาธิปัญญา ก็อยู่ได้...อยู่ได้ด้วยความไม่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อสิ่งใดๆ ที่จะเกิด ที่จะมาก ที่จะน้อย ที่จะไม่เกิด ที่จะไม่มาก ที่จะไม่น้อย อะไรก็ตาม

จึงได้ชื่อว่าผู้ที่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นที่พึ่งนั้นแล เป็นผู้ที่อาจหาญในธรรม ไม่กริ่งเกรง ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...เดินหน้า เดินไปบนมรรค...ด้วยศีลสมาธิปัญญาเป็นอำนาจ 

เหมือนดุจดั่งราชสีห์ออกล่าเหยื่อ...คือกิเลส ...ผู้ปฏิบัติธรรมน่ะ มันต้องให้ได้อย่างนี้ ...ไม่ใช่มาหงอกับกิเลส มาหงอ มากลัวความคิด มากลัวแต่อารมณ์

เวลามีกิเลสเกิด มีอารมณ์เกิด หันรีหันขวาง ลุกลี้ลุกลนทำอะไรไม่ถูก นอนซมนอนเซา นอนน้ำตาไหล น้ำตาซึม นอนตัดพ้อต่อว่าตัวเอง คนนั้นคนนี้ ...ไอ้นี่มันหงอ ไม่ลุกขึ้นสู้

สำหรับคนที่ไม่รู้จะเอาอะไรมาสู้ก็ว่าไปอย่าง แต่ไอ้คนที่มีอะไรมาสู้แล้วไม่สู้ นี่...มันใช้ไม่ได้  

ไอ้คนที่ไม่รู้จะเอาศีลสมาธิปัญญาตัวไหนมาสู้ เพราะไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน มันก็ว่ากันไม่ได้ ...มันก็ไปหาวิธีการนั้นวิธีการนี้ กำหนดจิตตรงนั้นตรงนี้ไป ว่าไม่ได้

แต่ไอ้คนที่มันรู้แล้ว ฟังแล้ว ได้ยินแล้ว เราพูดจนปากจะฉีกถึงรูหูแล้วนี่ ...ไอ้นี่มันใช้ไม่ได้ ไปหงอกลัวมัน แล้วก็ปล่อยให้มันขึ้นคอขี่หลัง เหยียบเอา กระทืบซ้ำให้จมอยู่ในกองกิเลส

แล้วก็มานั่งบ่นนั่งบอกว่าทำไม่ได้ๆ ...ไอ้นี่มันใช้ไม่ได้ ...มันจะทำไม่ได้ยังไง กายใจมันหายไปได้ยังไง มันอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว อยู่ตรงท่ามกลางกิเลสที่มันปรากฏอยู่นั่นน่ะ

มันนั่งคิด หรือมันไปคิดอยู่ลอยๆ กลางอากาศล่ะ หือ หรือมันยืนคิดอยู่ล่ะ ...ทำไมล่ะ กายใจมันก็อยู่ตรงที่ยืนเดินนั่งนอน แล้วในยืนเดินนั่งนอนมันก็มีความคิดมีอารมณ์อยู่ในนั้น

จะไปบอกว่ากายใจไม่มี...ไม่ได้ ...ไอ้นี่เรียกว่าไม่สู้ ไม่พากเพียรเอาสติสมาธิปัญญาเข้ามาสู้ ...ไม่มีสติก็สร้างสติขึ้นมาสิ ระลึก...กายก็อยู่ตรงนั้น

ตรงไหนก็ได้...ที่ตีน ที่มือ ที่แขน ที่ขา ที่หน้า ที่ตัว ที่ตึง ที่หนัก ที่ปวด ที่เมื่อย ที่อุ่น ที่ร้อน ที่แข็ง ที่กระเพื่อม ที่กระเทือน ...มันมีบ้างมั้ยล่ะ

สู้กับกิเลสน่ะ ต้องสู้แบบ...สู้ไม่ถอยน่ะ จนกว่ากิเลสมันจะถอยน่ะ  สู้แบบหมาพิตบูลน่ะ กัดไม่ปล่อยน่ะ ...เอาจนกว่าจะพลิกมาอยู่เหนือมันได้นั่นแหละ

ไม่เลิก ไม่พัก ไม่หยุด...ที่จะสร้าง ที่จะทำความรู้ตัว  จนกว่าจะอยู่เหนือกิเลสได้...เป็นช่วงๆ ไป ...นี่ ต้องสู้กันแบบสู้ไม่ถอยกันอย่างนี้

แล้วก็บอกให้อีกซ้ำด้วยว่า ต้องสู้ด้วยวิธีการเดียวเท่านั้น  สู้กันแบบว่า...สู้ตรงๆ ละกันแบบตรงๆ เลยน่ะ วางกันแบบตรงๆ กันเลยน่ะ ไม่ต้องมีอุบายซับซ้อนอะไร

ทำความรู้ตัวลงไปตรงๆ ตรงนั้นเลย...ท่ามกลางอารมณ์ ท่ามกลางกิเลส ท่ามกลางความคิด ท่ามกลางความทุกข์-ความสุขอะไรก็ตาม ทั้งจากเราจากเขาอะไรก็ตาม

แล้วแต่ว่าจิตมันจะแอบอ้างเสกสรรปั้นแต่งอะไร เป็นขันธ์น้อย ขันธ์ใหญ่ ขันธ์ไกล ขันธ์ใกล้ ขันธ์หยาบ ขันธ์ละเอียด ขันธ์สุข ขันธ์ทุกข์ ขันธ์ประณีต ขันธ์ดี ขันธ์เลิศ ...เหล่านี้ไม่เอา

เอากายใจเป็นที่ตั้ง...ที่เดียวเท่านั้น ...บอกแล้วว่า ที่เดียวเท่านั้นเป็นที่ไม่มีกิเลส ท่ามกลางกองกิเลส

พระพุทธเจ้ากับสาวกทุกองค์น่ะ อรหันตสาวกทุกท่าน ท่านก็สู้ด้วยวิธีนี้มาตลอด  ไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ ท่านก็สู้ด้วยวิธีนี้ ...เอาศีลสมาธิปัญญานี่เข้าสู้

ท่านไม่มามัวนั่งคิดนั่งหาวิธีสู้ด้วยนะ ไม่มาเปิดตำราสู้ด้วย  ท่านสู้กันแบบ...ศีลสมาธิปัญญาตรงๆ  นี่ สู้กันตรงๆ ไปเลย ...ก็เห็นท่านชนะกันมาทุกรายไป ท่านเป็นนักสู้ที่แท้จริง

ไอ้พวกเรามันพวกขี้แพ้น่ะ ยอมแพ้ตั้งแต่กิเลสยังไม่เกิด ...แพ้ตอนไหนที่ว่ากิเลสยังไม่เกิด คือยังไม่ทันมีความคิด ยังไม่มีอารมณ์เลย กูก็ปล่อยล่องลอยแล้ว เพลินหายแล้ว สบายใจ...เรา

นี่ มันแพ้ตั้งแต่ยังไม่มีกิเลสเกิดเป็นชิ้นเป็นอันเลย เห็นมั้ย ...แล้วอย่างนี้จะไปชนะตอนที่กิเลสเกิดนี่นะ มันจะเอาอะไรไปชนะ ...มันยอมแพ้ตั้งแต่ในมุ้งแล้ว

แล้วจะเอาศีลสมาธิปัญญาที่เป็นอดีตมาแก้...ก็ไม่ได้ ...ที่เคยมีเคยเป็นอย่างนี้ เคยรู้ตัวได้อย่างนั้นอย่างนี้ ทรงได้อย่างนั้นนานขนาดนี้ ...โอ้ย มันเป็นอดีตไปแล้ว มันแก้ปัจจุบันไม่ได้ มันแก้กิเลสปัจจุบันไม่ได้ 

มันก็เป็นแค่ความคิดนึกสัญญาในขันธ์เท่านั้นเอง ไม่ใช่ศีลสมาธิปัญญาตัวจริง ...ของจริงต้องเป็นปัจจุบัน กายใจก็ต้องเป็นกายใจตัวจริงที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่กายใจอดีต-อนาคต 

เพียรซ้ำซาก รู้ซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนี้ ไม่ท้อถอย ไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่หยุด ไม่เลิกรา จนมันชนะกิเลสได้ทุกตัว ชนะความคิดได้ทุกความคิด ชนะอารมณ์ได้ทุกอารมณ์ ชนะความปรุงแต่งได้ทุกความปรุงแต่งนั่นแหละ 

จากที่เคยถูกมันกระหน่ำซ้ำเติมมาแบบ...แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนจากความนึกคิดปรุงแต่งอารมณ์ได้เลย ...มันก็เกิดความโล่งเบาขึ้น ขันธ์อันน้อยนิด ก็จะหดมาเหลือแค่ขันธ์อันเป็นขันธ์ปัจจุบัน 

สุดท้ายขันธ์ห้าปัจจุบันก็จะหดลงไปเหลือแค่กายใจปัจจุบัน หดจนเหลือแค่กายใจปัจจุบันที่ไม่ได้เป็นใครของใครเลย ...จนหลอมรวมกับสามโลกธาตุเป็นธรรมหนึ่งธรรมเอก เป็นสาธารณธรรม เป็นธรรมที่เป็นกลางของโลก ของสามโลก

กิเลสมันหายไป มลายไป สิ้นไป คืนสู่สภาพเดิมที่แท้จริงของมัน คือว่าง ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลย ...นี่ ศีลสมาธิปัญญามันเข้าไปลบล้าง กวาดล้าง จนสิ้นซาก ไม่เหลือซาก

บอกแล้ว จะดีจะร้าย จะถูกจะผิด มีวิธีแก้วิธีเดียวคือรู้ตัว ...ไม่มีวิธีอื่นหรอก แก้ไม่หมดหรอก แก้ไม่จบ ไม่สะเด็ดน้ำหรอกกับทุกข์นั้นๆ เรื่องราวนั้นๆ

มันจะจบได้ต่อเมื่อจิตนี่หยุด...มาหยุดอยู่ที่รู้ มาหยุดอยู่กับตัว มาหยุดอยู่ที่ศีล มาอยู่ที่สมาธิ แล้วมันก็จะตายด้วยปัญญา...ที่รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า...ที่ว่าเป็นอะไรๆ เรื่องอะไรๆ เรื่องของใครเรื่องใดเรื่องหนึ่งนี่ 

แท้ที่จริงมันไม่มีอะไร ไม่มีเรื่องอะไร คิดเอาเองทั้งนั้น ...จิตว่าไปเอง จิตสร้างเรื่องขึ้นมาเอง ให้มันเป็นเรื่อง แล้วก็เพิ่มคุณค่าว่าสำคัญมาก-สำคัญน้อยกว่ากัน ไปให้ลำดับขั้นตอนความสำคัญของเรื่อง

นี่คือความเสกสรรปั้นแต่งของกิเลส ...มันสามารถทำของที่ไม่มี สิ่งที่ไม่มี...ให้มันมี ให้มันจริง ให้มันเที่ยง ให้มันจับต้องได้ซะอย่างงั้น

เพราะนั้นการปฏิบัตินี่ สำคัญที่รู้ตัวเท่านั้น ...ไม่สำคัญว่าจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไรหรอก ว่าจะรู้อะไรมากกว่าคนนั้น น้อยกว่าคนนี้หรือเปล่า ...ไม่สำคัญหรอก

สำคัญว่าเดี๋ยวนี้ รู้ตัวมั้ย ว่าตัวนี้อยู่อย่างไร รู้มั้ยว่าตัวกายนี่มันแสดงความรู้สึกอาการใดบ้าง ...แม้จะไม่รู้อะไรเลย แต่รู้อย่างเดียวว่าความรู้สึกในกายเดี๋ยวนี้มีอะไร อยู่ยังไง ...นี่เพียงพอต่อนิพพานแล้ว

เพราะนั้นนิพพาน ไปสู่ความหลุดพ้น...โดยที่ไม่รู้อะไรเลยนอกจากว่ารู้อย่างเดียวว่าตัวนี้คือใครของใคร...นี่ พอแล้ว

ไม่ต้องไปเสียเวลาค้นหาความรู้ในที่อื่นเลย ไม่ต้องไปเสียเวลาสร้างสภาวะอารมณ์ให้จิตไปครอบครองแล้วถึงจะไปนิพพานกัน...ไม่ต้องเลย

แต่ไปด้วยความว่างเปล่าจากอารมณ์ ไปด้วยความว่างเปล่าจากความคิดนึกปรุงแต่ง ไปด้วยความหยุดอยู่ของจิตโดยสนิทแนบแน่นอยู่กับกายใจ เพียงพอต่อการเข้ามรรคผลและนิพพานแล้ว

ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ ... ปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ ...ที่นี้ที่เดียวเท่านั้น

นี่แหละ เท่านี้แหละ มีอะไรถามอีกมั้ย


โยม –  ไม่ถามแล้วค่ะ พอจะสรุปตัวเองได้แล้วค่ะ มันคิดแล้วก็มีข้ออ้างเยอะ จะไปทำการบ้านตรงนี้ส่วนนี้ให้มันเยอะกว่านี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  มันจะยกอะไรขึ้นมานี่...ทิ้งเลย  มันจะยกแง่มุมนั้นแง่มุมนี้ขึ้นมานี่...พอรู้ สติรู้ขึ้นมาเมื่อไหร่นี่...ทิ้งเลย ไม่ต้องเสียดายเลย แล้วไม่ต้องกลัวด้วยว่าจะแก้ไม่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีปัญหาข้างหน้า 

อย่าปล่อยให้มันไปคิดต่อ ไปซ้อนภพขึ้นมา...ทิ้งเลย  พอมันจะเริ่มคิดเริ่มควาน...ทิ้งเลย ...แล้วจะทิ้งเปล่าๆ ไม่ได้  ถ้าทิ้งเปล่าๆ เดี๋ยวมันจะไปอีก ...ทิ้งแล้วจะต้องอยู่ จะต้องมีที่เกาะอยู่ 

โดยมีศีลนี่เป็นเกราะกำบัง จะต้องมีกายนี่เป็นจุดยึดโยง ไม่งั้นน่ะ ขนาดยึดโยงแล้วนี่มันยังออกไปเลย ...เพราะว่ากำลังแห่งการยึดโยงระหว่างสติสมาธิกับกายกับศีลนี่...มันต่ำ มันยึดไม่อยู่ มันโยงไว้ไม่อยู่

ก็เรียกว่ากำลังมันต่ำ มันอ่อน มันก็ปลิวออกไปอีก ...มันยังไม่ยอมเลิก มันยังไม่ยอมแล้วใจ มันยังไม่ยอมแล้วกิเลส ...กิเลสไม่ยอมเลิกแล้วอะไรง่ายๆ หรอก มันจะดันทุรัง

ทีนี้ก็ต้องสู้ด้วยการเอากลับอีก ...ไม่เอา บอกมันไม่เอา จะเป็นตายร้ายดีต่อไปข้างหน้าข้างหลัง...ไม่เอา ...เอาแค่ปัจจุบัน ถือกายเป็นปัจจุบัน ถือกายเป็นเครื่องระลึกรู้ ถือกายเป็นเครื่องหยุดอยู่ ถือกายเป็นที่พักพิงอาศัยของจิต

เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ อ่อนแรงลงไปเอง...ความคิด อารมณ์ มันอ่อนไป ...มันก็คล้ายๆ กับว่า “ไม่รู้กูจะคิดไปทำไม ไม่เอาแล้ว” มันรู้สึกได้เองนี่ มันจะตัดบทไปเลย “เอาล่ะวะ เจออะไรก็เจอ ได้อะไรก็ได้ เป็นก็เป็น” 

ทีนี้จิตมันก็สงบแนบนิ่งอยู่กับกายอยู่กับศีล ...ทีนี้ต้องรักษานะ ถ้ามันแนบนิ่งแล้ว กิเลสมันสลายไปชั่วคราวนึงนี่ จะต้องรักษาคงความต่อเนื่องไว้ อย่าทิ้งๆ ขว้างๆ

เมื่อทรงสภาพรู้ตัวได้ จิตมันอยู่กับความรู้ตัวด้วยความพรักพร้อมในตัวของมันเองแล้ว อย่าทิ้งๆ ขว้างๆ ...ต้องเพียรรักษาไว้


โยม –  ม้าตัวนี้ของเรามันมีปัญหาน่ะค่ะ คือก็เจอความทุกข์แล้วอยู่ไม่ได้ ก็หนีไป ...ตรงนี้ มันไม่กล้าค่ะ

พระอาจารย์ –  ต้องกล้าที่จะเผชิญ รับรู้กับทุกสิ่ง ท่ามกลางกิเลสน้อยใหญ่นั่นแหละ ท่ามกลางความพอใจ-ไม่พอใจแห่งเรานั่นแหละ ...จะต้องเอาศีลสมาธิปัญญามาเยียวยาตรงนั้นให้ได้

ไม่อย่างงั้นน่ะ มันจะเป็นนกกระจอกเทศ ...เคยเห็นมั้ย เวลาอะไรจะมาโจมตีมัน มันเอาหัวซุกดินเลย แล้วก็โก่งก้น มันบอกมันไม่เห็นอะไรแล้ว มันไม่กลัว ...เนี่ย แก้ปัญหาแบบนกกระจอกเทศ

มันจะต้องกล้าที่จะเผชิญกับทุกสิ่งโดยที่ว่าไม่หลีก ไม่หนี ไม่เลี่ยงเลย ...แต่ว่าสามารถจะสอดแทรกหรือว่าดำรงศีลสมาธิปัญญาอยู่ได้ตรงนั้น...เป็นหลักขึ้นมาท่ามกลางมรสุม

ไม่งั้นก็จะกลายเป็นพวกอีแอบ ...พวกอีแอบนี่ส่วนมากจะสำคัญตนมั่นหมายว่ากูเก่งในธรรมด้วย มันจะมีมานะ คือหนีจนเก่งน่ะ หนีจนชำนาญการหลีกเร้น

เพราะนั้นครูบาอาจารย์สายกรรมฐานนี่ ท่านกล้าเผชิญความเป็นจริง ท่านฝึกเผชิญความเป็นจริงมาตั้งแต่นั่งกันแบบข้ามวันข้ามคืนแล้ว เพื่อเผชิญกับความเป็นไปของขันธ์น่ะ ...ไม่หนี ไม่ลุก ไม่แก้

หรือเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยในป่าคนเดียว ไม่หลีก ไม่หนี ไม่แก้ เพราะไม่รู้จะแก้ยังไง ...ท่านเผชิญ ท่านไม่หนี ท่านไม่มามัวนั่งคิดนั่งค้นหาวิธีแก้เลย

เผชิญหน้ารับรู้กับมัน ตั้งมั่นอยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญา สู้กัน จิตมันจะคอยหวั่นคอยไหวไป อย่างนั้นอย่างนี้อย่างนู้น ท่านก็สู้ด้วยศีลสมาธิปัญญา เผชิญกับความเป็นไปของขันธ์ ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมขันธ์

ไม่เหมือนคนสมัยนี้...ฝึกปฏิบัติกันแบบง่ายๆ ลวกๆ ...พอเจออะไรป๊อกอะไรแป๊กขึ้นมา...ก็ล้มแล้ว เลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว ...ไม่กล้าเผชิญ ไม่กล้าดู ไปจนถึงที่สุดแห่งมัน 

นี่ ไม่กล้ารู้อยู่กับมัน ไม่กล้าเอาศีลสมาธิปัญญาตั้งมั่นแล้วก็รับรู้กับมัน เห็นความเป็นไปของมันตามระบบไป


(ต่อแทร็ก 16/18)




วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/16


พระอาจารย์
16/16 (570922B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22 กันยายน 2557


พระอาจารย์ –  เมื่อศีลสมาธิปัญญามันอยู่ในระดับที่เรียกว่าต่อเนื่องด้วยความไม่ขาดสายนี่ ...ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริงแห่งกาย ตามความเป็นจริงแห่งใจ มันก็ชัดเจนขึ้นไปเอง

ชัดเจนยังไง ...ชัดเจนในความที่มันไม่ได้เป็นเรา ของเรา อย่างไร  ชัดเจนในความที่มันเป็นแค่ก้อนธาตุกองธรรม ชัดเจนในความที่เป็นเพียงแค่กองลักษณะอาการที่ปรากฏตามธรรมชาติเกิด-ดับ

มันหาความเป็นเรา หาความเป็นของเรา หาความเป็นสัตว์ หาความเป็นบุคคล หาความเป็นทุกข์ของเรา หาความเป็นสุขของเราในนั้น...ไม่มี ...นี่ มันก็ชัดเจนขึ้นมา 

ยิ่งชัดในความไม่เป็นเราเท่าไหร่ ยิ่งชัดในกายที่ไม่เป็นเราเท่าไหร่ ...ความอยากคิดนึกปรุงแต่งมันก็น้อยลงเท่านั้นแหละ ไม่รู้จะคิดนึกปรุงแต่งไปทำอะไรเพื่อใคร 

มันไม่รู้จะเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราเรื่องของเขาอย่างไร  มันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกิน...เกินจริง เป็นเรื่องเกินความเป็นจริง 

จนต่อไปมันก็จะเห็นไปตามลำดับมากขึ้นด้วยปัญญาเองว่า...นอกจากมันเกินจริงแล้ว...มันยังไม่ใช่เป็นเรื่องจริงด้วยซ้ำ  

จนมันเห็นว่าไม่เป็นเรื่องจริงแล้ว ...ต่อไปมันก็จะเห็นเข้าไปอีกว่า มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นแค่คำกล่าวอ้างเลื่อนลอยของจิตเท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีความหมายใดความหมายหนึ่งในนั้นเลย...เหมือนอากาศธาตุ

เนี่ย ภูมิปัญญามันจะลาดลุ่มลึกไปตามลำดับขั้นตอนอยู่อย่างนี้ ...มันไม่ใช่ว่าอยู่ทีเดียว ปึ้บ มันจะไปเห็นนิพพานปั๊บต่อหน้า...มันไม่ใช่ มันเป็นไปไม่ได้

แล้วก็ไม่ควรจะไปบีบบังคับ คาดคั้น จะให้มันเป็นอย่างนั้น จะต้องให้เห็นอย่างนี้น่ะ...ไม่ได้หรอก ...มันจะมีความหงุดหงิด ฟุ้งซ่าน อึดอัดในการภาวนา

จนบีบบังคับให้เกิดการแสวงหาครูบาอาจารย์มากมายก่ายกอง หาตำรากี่เล่มกี่สำนักก็ไม่รู้มาอ่าน ...ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปตามอำนาจของจิตเราทั้งนั้นน่ะ ที่ไม่ยอมหยุด ไม่ยอมยั้ง

และก็ทำไปตามอำนาจแห่งการค้นหาแห่งกิเลส...คือตัวเราน่ะ ...ตัวกิเลสคือตัวเรานั่นแหละ กิเลสไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย มันอยู่ที่ตัวเราที่เดียวนั่นแหละ

ทุกความคิด ทุกความเห็น ทุกความอยาก ทุกความไม่อยากของเรานั่นแหละคือกิเลส ...แล้วเราก็ทำตามอำนาจมัน...จะในแง่โลกหรือแง่ธรรม มันก็กิเลสทั้งนั้น

ถ้าไม่ได้เอาศีลสมาธิปัญญานี่เป็นตัวแก้ตัวกันไว้ มันไม่มีทางที่จะเอาชนะกิเลสเหล่านี้ได้เลย ...มันจะมีแง่มุมต่างๆ ที่คิดนึกปรุงแต่ง ที่จะเป็นไปเพื่อสนับสนุนอำนาจแห่งเรา ผลที่ได้แก่เรา...ทั้งในทางโลกและทางธรรม 

จนสุดท้ายก็คือ...ทุกการทำไปตามการพูด ทุกการทำไปตามความคิด ทุกการทำไปตามอารมณ์ ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ...มันก็กลับมาตกแก่ “เรา” ทั้งหมดเลย

เพราะว่าอะไร ...เพราะว่ากิเลสน่ะมันได้ผลประโยชน์ล้วนๆ ไม่ได้เป็นผลประโยชน์ต่อศีลสมาธิปัญญาแต่ประการใดเลย

แต่เมื่อใดเอาศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริงนี่เป็นหลัก หรือเป็นการปฏิบัติประจำจิต ประจำใจ ประจำชีวิต ...ตัวศีลสมาธิปัญญานี่จะเป็นตัวบั่นทอนอำนาจ ลดทอนอำนาจแห่ง “เรา”

จนกิเลสความนึกคิดปรุงแต่งมันไม่มีมือตีนออกไปเกี่ยวเกาะข้องแวะกับอะไรได้ ...ไม่ไปดึง ไม่ไปรั้ง ไม่ไปเกาะกับอะไรได้ 

ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญาที่อบรมมาดีแล้วเท่านั้น มันถึงจะเข้าไปสู่จุดนั้น ...ซึ่งมันจะเป็นแบบค่อยเป็นไป...ไม่ช้าไม่เร็วหรอก ก็เป็นไปตามธรรมอันควร ตามกาลอันควร ตามเหตุอันควร

แต่กิเลสในตัวเรานี่ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นนี่...มันแรง  มันจะเอาให้ได้แบบง่ายๆ เร็วๆ แบบทันอกทันใจ ...กิเลสทั้งนั้นน่ะจะเอาแบบเร็วๆ

ทีนี้เวลาที่มันมาอยู่กับศีลสมาธิปัญญานี่ มันเชื่องช้า...เพราะจิตมันไม่เคลื่อน ไม่ให้จิตมันเคลื่อน ...จิตน่ะมันเป็นตัวที่ไว...ได้ไว รู้ไว เห็นไว นึกอะไร จับอะไรมาคิดนึกได้อารมณ์ไวๆ

พอเวลามาอยู่กับศีลสมาธิปัญญา จิตมันไปไม่ได้ มันก็เลยไม่ได้อะไรไวๆ ...เมื่อมันไม่ได้อะไรไวๆ ไม่เห็นอะไรไวๆ ไม่ได้รู้อะไรไวๆ นี่...อันนี้มันก็เลยเกิดภาวะที่มันขัดใจเรา

มันยังมีอำนาจแห่งเรา อำนาจแห่งกิเลสที่มันยังแฝงอยู่ในจิต อยู่ในใจอยู่ ...อย่างที่เราบอกน่ะ กิเลสเท่าฟ้าเท่าแผ่นดิน มันจึงอดไม่ได้ ทนไม่ได้ที่จะไปคิดนึกปรุงแต่งต่อให้มันได้อะไรไวๆ ทันที

แต่ที่ว่ามันได้ไว ได้ทันทีนี่...ตามความฝันนะ มันเป็นฝัน เพราะมันเป็นแค่ความปรุงแต่งในการคิดนึก ...นี่เรียกว่าฝั่งฝัน มันอยู่ในฝั่งฝัน ไม่ได้อยู่ในฟากฝั่งแห่งความเป็นจริงเลย

ที่ท่านเปรียบเทียบว่าศีลสมาธิปัญญานี่ เหมือนกับเรือแจวข้ามฟาก เพื่อจะข้ามฟากจากฝั่งฝันมาสู่ฝั่งแห่งความเป็นจริง ...ซึ่งฝั่งแห่งความเป็นจริงน่ะเหมือนแผ่นดิน...ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่อากาศ

เพราะนั้นการอบรมจิต การฝึกอยู่ในศีล ร่องกลางของศีลสมาธิปัญญานี่  มันจะต้องอดทน...ต่อความอยากที่จะได้อะไรมาแบบง่ายๆ เร็วๆ ...ไอ้ง่ายๆ เร็วๆ นี่เป็นจิตว่าหมด

ทีนี้พอจิตมันถูกปรับมาอยู่โหมดที่เรียกว่า สโลว์ (slow) เชื่องช้านี่ ...กิเลสมันก็รู้สึกอึดอัดคับข้อง  เพราะจิตมนุษย์ทุกวันนี่มันไว...ไวมาก

มันออกเกินเนื้อเกินตัวนี่ไป...แบบลืมตาตื่นปึ้บนี่หากายไม่เจอ ไปถึงนู่น...ที่ทำงาน ไปถึงบ้านเพื่อน แล้วก็จากนั้นไปก็เตลิดแบบไม่มีหูรูด ไปถึงสุดขอบจักรวาลเลยก็ได้ ...นั่นน่ะฝั่งฝันของมัน

แล้วตาหูจมูกลิ้นก็กระทบ แล้วกระทบปุ๊บมันก็มีเรื่องซ้อนเรื่อง...ซ้อนเรื่องๆ หาเนื้อหาตัวหากายหาใจไม่เจอเลย ...พอกลับมาถึงบ้านก็เหนื่อยล้า มีความรู้สึกว่า “เรา” นี่เหนื่อยล้า จิตเหนื่อยล้า

เพราะมันทำงานไม่หยุด ปรุงแต่งอยู่ตลอด ซับซ้อนในนั้น ซับซ้อนในความปรุงแต่งนั้นๆ ...แล้วก็หมดเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น หมดเรื่องนั้นไปเรื่องโน้น หมดเรื่องเสียงไปเรื่องรูปที่เห็น

พอหมดเรื่องรูปที่เห็น ก็ไปเรื่องของอดีต-อนาคตของรูปและเสียงที่ได้ยิน ...มันสร้างเรื่องสร้างราว เป็นภพซ้อนภพ...ซ้อนภพๆๆ  แล้วก็เข้าไปมีเราแบกเป็นอารมณ์กับภพซ้อนภพซ้อนภพนั้นๆ

มันจะไม่เหนื่อยยังไง มันจะไม่สุขไม่ทุกข์มากจนอึดอัดจนทานทนไม่ไหว จนแบกรับไม่ไหว...ขึ้นมาเป็นความรู้สึกแห่งเราที่มันแบกรับไม่ไหว เป็นทุกข์ แบกขันธ์ แบกอุปาทานขันธ์

ภาษาท่านว่า เหมือนไอ้บ้าหอบฟาง ...ซึ่งจริงๆ น่ะ มันไม่มีน้ำหนักอะไรเลย เพราะมันฝัน บอกว่ามันเป็นฝั่งฝันน่ะ ...แต่มันกลับเหนื่อยล้าไปหมด เพราะมันเข้าใจว่ามีจริง เป็นจริงจังขึ้นมา

เนี่ย บ้าหอบฟาง ไอ้บ้าแบกหิน แบกจนจริงจังมั่นหมายไปหมด ...ทีนี้พอจะวางก็ไม่กล้าวางอีก พอจะละก็ไม่กล้าละอีก ยังว่ามันสำคัญอยู่...ต้องเอาไว้ ...เอาไว้ทำเผ่าพันธุ์แห่งการเกิดต่อเนื่องรึไง 

มันจะเอาไว้แพร่เป็นเชื้อที่ให้เกิดการลุกลามขยายต่อไปไม่จบไม่สิ้นหรือยังไง ก็เลยไม่กล้าตัดสินใจเอาศีลสมาธิปัญญามาเป็นตัวตัด ตัวละ ตัววาง ...อ้างนั่น อ้างนี่ อ้างโน่นไป เป็นคำกล่าวอ้างของกิเลสล้วนๆ

แล้วพอมาภาวนาก็ยังมาหาธรรมกันอีก ...หาธรรมข้างหน้า หาธรรมที่ดี หาธรรมที่ถูก หาธรรมที่ใช่ หาธรรมที่คนอื่นเขายกย่องยอมรับ ...มันหาทางโลกไม่พอ มันยังมาหาในทางธรรม

อย่างนี้ มันจะหมดสิ้นซึ่งทุกข์ได้อย่างไร มันจะหมดสิ้นซึ่งความเป็นตัวเราของเราได้อย่างไร ...ก็มันเป็นการปฏิบัติเพื่อค้นหาธรรมแห่ง "เรา" น่ะ

มันไม่ได้เป็นการปฏิบัติเพื่อลด ละ เลิก เพิกถอนความเป็นเรา ตัวเราเลย ...เพราะมันไม่ได้เป็นการปฏิบัติอยู่ในองค์ศีลสมาธิปัญญา

ที่ไหนไม่เป็นเรา ที่ไหนไม่มีเรา ให้อยู่ตรงที่นั้น ...นี่ ตรงที่ศีลมีอยู่ ตรงที่สมาธิมีอยู่ ตรงที่ปัญญามีอยู่...ตรงนั้นน่ะเป็นที่ที่ไม่มีเรา

ศีลอยู่ที่ไหน...อยู่ที่กายปัจจุบัน ความปรากฏขึ้น การดำรงอยู่ของก้อนกายปัจจุบัน คือก้อนธาตุ ก้อนธรรม ก้อนศีลนี่...ตรงนี้เป็นที่ที่ไม่มีเรา ...ตรงใจที่มันปรากฏอยู่ด้วยการรู้และเห็น ตรงนี้เป็นที่ที่ไม่มีเรา 

เพราะนั้นมันมีอยู่สองที่เท่านั้นแหละ...เป็นที่ที่ไม่มี "เรา" ก่อเกิดขึ้นมา และเป็นที่ที่ไม่มี "เรา" แอบแฝงอยู่ในนั้นด้วย

ถ้าไม่อยู่ในสองที่นี้...กาย-ใจนี้ หรือศีลสมาธิปัญญานี่ ...ความหมายของกาย-ใจกับความหมายของศีลสมาธิปัญญาคือความหมายเดียวกัน ...ถ้าไม่อยู่ในสองที่นี้ มีหรือมันจะไม่มี "เรา" ขึ้นมา หือ

ทุกที่น่ะ...คือเราหมด ...ไม่ว่าจะเป็นที่รูป ไม่ว่าจะเป็นที่เสียง ไม่ว่าจะเป็นที่ความคิด ไม่ว่าจะเป็นที่อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นที่อดีต-อนาคต ไม่ว่าจะเป็นที่วัตถุข้าวของภายนอก ไม่ว่าจะเป็นที่บุคคลต่างๆ ล้อมรอบ

ไม่ว่าที่ไหนที่ออกจากกาย-ใจ...สองที่นี้ ...มันจะสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราเป็นของเขา เป็นอารมณ์แห่งเรา เป็นอารมณ์แห่งเขา ตลอดเวลา

ที่เหล่านี้ที่ท่านเรียกว่า...เป็นที่ที่ไม่ควรไป เป็นที่ที่ไม่ควรอยู่ ...เป็นทางรก เป็นทางวกวน เป็นทางติดข้อง เป็นทางที่เป็นทุกข์ หล่มทุกข์ เป็นทางแห่งภพ เป็นทางแห่งความสืบเนื่องแห่งภพ 

มันเป็นความหมุนวน ทางหมุนวนที่ไม่มีคำว่าจบสิ้น ...ท่านไม่ให้ไป ท่านไม่ให้ไปอยู่ ท่านไม่ให้ไปอาศัย ท่านไม่ให้แม้แต่เข้าไปแอบอิงกับมัน

ท่านบอกว่ามันมีอยู่ทางเดียวที่เดียว...คือกายใจนี้แหละ...ที่มาอยู่ตรงที่นี้ทางนี้ จะเป็นทางเป็นที่ที่เสื่อมถอยไปซึ่งอำนาจแห่งกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ...นี่ท่านเรียกว่ามรรค ทางแห่งมรรค เป็นทางสายเอก ทางสายเดียว

แล้วถามว่าไอ้กายใจนี่มันเป็นของที่หาได้ยาก...เหมือนกับไปขุดหาน้ำมันในมหาสมุทรไหม เหมือนกับต้องส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารไหม เหมือนกับการสร้างอะไรต่อมิอะไรไหม ...มันยากขนาดนั้นมั้ย

มันไม่ได้ยากอะไรขนาดนั้นเลย ...กายใจมันก็มีอยู่ทุกปัจจุบันนาทีนี่ เดี๋ยวนี้มันก็มีอยู่  ไม่ต้องลงทุนลงแรงค้นหาอะไรเลย และก็มีเป็นสมบัติติดเนื้อติดตัวมาทุกผู้ทุกคนไป

มันไม่ใช่ว่ามันเป็นที่ที่หาได้ยาก หาได้ลำบาก เป็นที่ที่จะต้องใช้เงินทองจับจ่ายซื้อหามา ...นั่งกับพื้นก็แข็ง นี่ กายก็มีอยู่ตรงแข็งตึงแน่น  ลมพัดกระทบผิวหนัง มีความรู้สึกเย็นวาบ นี่ก็กาย ...มันมีอยู่ตลอด

ท่ามกลางกิเลสน้อยใหญ่ มันมีที่ที่กิเลสไม่มีอยู่น่ะ ...กลับไปมองว่าศีลสมาธิปัญญาเป็นของไกล เป็นของยาก...จะต้องอย่างนั้น จะต้องอย่างนี้ ต้องมีพิธีรีตอง จะต้องมีพิธีการอะไร

หรือว่าจะต้องมีการปฏิบัติในแง่มุมอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงจะเจอะถึงจะเจอศีลสมาธิปัญญาตัวแท้ตัวจริง หรือตัวที่มีกำลังที่จะไปฟาดฟันกับกิเลสได้ ...นี่พาให้เกิดความยุ่งเหยิงในการปฏิบัติซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

การปฏิบัตินี่ เห็นมั้ยว่ามันไม่ได้เป็นการลงทุนอะไร ต้องทำอะไรเลย ...เพียงแค่มีกายมีใจอยู่ในปัจจุบัน เพียงแค่รู้อยู่กับกายใจปัจจุบันนี่...ศีลสมาธิปัญญามันก็พรั่งพร้อมอยู่ตรงนี้แล้ว

ไม่ต้องเสียเงินสักบาท ไม่ต้องไปลงทุนเสียค่ารถค่าเครื่องบินไปอยู่ป่าเขาอะไร ...อยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ในท่าทางไหนก็ได้ อยู่ในสถานที่ไหนก็ได้  เพราะในที่ในสถานนั้นมันมีกายใจอยู่ทุกที่...ตราบใดที่บุคคลนั้นยังไม่ตายน่ะ

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ...เป็นเรื่องที่จะต้องฝึกจิตนี่ให้มันมาอยู่ติดเนื้อติดตัว เป็นเรื่องที่จะต้องคอยอบรมจิตนี่ ให้มันอยู่ในกรอบของกายใจปัจจุบันสม่ำเสมอต่อเนื่องต่างหาก

เพราะนั้น อยู่ที่ไหนมันก็ภาวนาได้ มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ภาวนาได้ หรือไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมันก็ภาวนาได้ ...ไม่เห็นมีอะไรเป็นข้ออ้างข้อแม้ในการภาวนาเลย

จะทำหน้าที่การงานก็ภาวนาอยู่ได้  จะไปไหนมาไหน จะไม่ไปมาไหน ก็ภาวนาได้  เพราะกายใจมันก็มี...ทั้งที่ไป ทั้งที่ไม่ไป ...นี่ จะได้มากจะได้น้อย ก็ขอให้ภาวนา อยู่กับกายใจนี้ไว้ 

แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มความตั้งใจใส่ใจขึ้นมา ให้มันมากขึ้น ให้มันต่อเนื่องนานขึ้น ให้มันเข้มแข็งขึ้น ให้มันขยันหมั่นเพียรขึ้น ให้เอามาเป็นธุระที่สำคัญยิ่งขึ้นกว่าเรื่องอื่นๆ 

ซึ่งมันค่อยๆ อบรมไป มันก็จะค่อยๆ เห็นความสำคัญมากขึ้นไป ...เมื่อภาวนาได้ต่อเนื่องเป็นนิจศีล เป็นกิจวัตรประจำแล้ว...ผลมันก็พอกพูนขึ้นมาเอง 

ความชัดเจน...ความชัดเจนต่อธรรม ต่อกาย ต่อความเป็นจริงมันก็เกิด อย่างนี้ ...มันก็ไม่เกิดความลังเลสงสัยในธรรม ในศีล ในการปฏิบัติ

ว่ารู้ตัวไปทำไม รู้ตัวไปเพื่ออะไร รู้ตัวแล้วจะได้อะไร รู้ตัวแล้วจะละอะไร รู้ตัวแล้วจะไม่กลับมาเกิดได้อย่างไร รู้ตัวแล้วภพชาติมันน้อยลงอย่างไร รู้ตัวแล้วภพชาติมันขาดลงได้อย่างไร 

มันก็ไม่สงสัยในศีลสมาธิปัญญา และมันก็ไม่สงสัยในผลที่ได้แห่งศีลสมาธิปัญญาว่าใช่หรือไม่ใช่ ว่าถูกหรือผิด ว่าตรงตามพระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอนมั้ย

แต่ที่มันไม่เกิดผล ไม่บังเกิดผลขึ้น ...เพราะมันไม่หมั่นไม่ขยันในการเจริญศีลสมาธิปัญญาให้มีอยู่เสมอนั่นเอง 

ไม่ใช่บุญไม่มี วาสนาน้อย ไม่ใช่ว่าติดที่ธุระหน้าที่การงาน มันไม่ใช่อะไรหรอก ...มันอยู่ที่ไม่หมั่นเจริญศีลสมาธิปัญญานั่นเอง

แต่ไอ้จิตผู้ปัดภาระนี่ มันก็คอยบอกว่า เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้  ...ติเตียนติโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาเป็นข้อขัดขวาง มาเป็นข้อรับสมอ้างแห่งเรา

อย่าไปเชื่อ อย่าไปฟังมัน ...ไม่ว่าความคิดใด แง่ใดมุมใด ก็ให้ละให้วางซะ ออก ถอดถอนจากความคิดความเห็นนั้นๆ ซะ ...มาอยู่กับเนื้อกับตัว ณ ตรงนั้น เดี๋ยวนั้น ขณะนั้น ...ทันทีทันควัน

การละกิเลสต้องละทันควันทันที ...จะละแล้วขาดก็ดี ละแล้วไม่ขาดก็ละอีก ...ถ้ามันยังไม่ขาด มันออกมาใหม่ก็รู้อีก เอาศีลสมาธิปัญญาเข้าไปแก้อีก รู้ตัวลงไปอีก ถึงแม้มันจะมากขึ้นก็รู้อีก 

ไม่ต้องสนใจหรอก ...กิเลสมันจะออกมาในท่าทางไหน ความคิดนึกปรุงแต่ง ความมีอารมณ์-ไม่มีอารมณ์อะไร ...กิเลสตัวไหนขึ้นมานี่ ไม่ต้องสนใจกับมันหรอก 

สนใจแต่ว่าจะเอาศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวเลิกละ ...นี่ ถ้าเป็นผู้มีความหมั่นขยันภาวนาถ่ายเดียวท่าเดียวนี่ ไม่หลายท่า ไม่หลายวิธี สะเปะสะปะมั่วซั่วกันไปหมด

เดี๋ยวมันก็เห็นความขาด ความดับไป...ของกิเลสแต่ละตัวๆ ของความคิดแต่ละความคิด ของอารมณ์แต่ละอารมณ์ ของเรื่องราวแต่ละเรื่องราวไปเองตามลำดับเองน่ะแหละ

จนถึงขั้นว่าเมื่อใด เวลาใดที่จิตมันได้รับการอบรมมาดีแล้ว จิตมันหยุดอยู่ด้วยความสม่ำเสมอ พอดี เพียงพอกับกายใจปัจจุบันด้วยความต่อเนื่องแล้ว

นั่นแหละ ปัญญาอย่างเป็นกอบเป็นกำมันจึงจะเกิด...ว่ากายนี้ไม่ใช่เราอย่างไร กายนี้ไม่เป็นเราอย่างไร ...มันก็จะชัดเจนอยู่ในตัวของมันเอง

เมื่อปัญญามันเกิดขึ้นในระดับที่มันชัดเจนในตัวที่ไม่ใช่เราอย่างไรนี่ ...ตรงนี้มันก็เข้าไปรื้อภพถอนชาติภายใน รื้ออวิชชาตัณหาอุปาทานที่มันสะสมอยู่ภายใน

ให้เกิดความเจือจางลง จนสลาย จนมลาย จนที่เรียกว่ามันถูกลบล้างไป...ด้วยสัมมาทิฏฐิ ความรู้ความเห็นที่ตรงต่อธรรม ตามธรรมที่แท้จริง ...นั่นเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

คือปัญญาที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิเท่านั้น มันจึงจะไปลบล้างกิเลสอวิชชาตัณหาภายในได้ ถึงขั้ว ถึงต้นตอ ...นี่เรียกว่าด้วยภาวนามยปัญญา หรือว่าญาณทัสสนะ

อย่ามามัวรั้งมัวรอ อย่ามามัวเสียเวลาค้นคิดหาความถูกต้องในการปฏิบัติ อย่ามามัวเปรียบเทียบวิธีการปฏิบัติของแต่ละสำนักแต่ละอาจารย์

ให้ถือศีลสมาธิปัญญาเป็นแม่แบบ ศีลอยู่ไหน ศีลมีรึยัง แค่เนี้ย เอาศีลเป็นแม่แบบ ...ปกติปัจจุบันกายถือเป็นศีลปัจจุบัน กายปัจจุบันที่ดำรงคงอยู่ ถือว่าเป็นก้อนศีล

ปกติธาตุ ปกติธรรม มีอยู่ เป็นอยู่ แสดงอยู่ ปรากฏอยู่ ด้วยความเป็นนิจ สืบเนื่อง ...ถือตัวนี้เป็นมาตรฐาน ที่ท่านเรียกว่า เอกศีล ศีลเอก ศีลหนึ่ง ศีลนี้เป็นใหญ่...เป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง

การจะเข้าถึงธรรมหรือรู้จักธรรม มันจะต้องรู้เห็นผ่านศีลนี่ เป็นสะพานทอดเชื่อมไปสู่ธรรม ...มันจะต้องรู้เห็นกาย ผ่านกายนี่ มันจึงจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ธรรมทั้งหลายทั้งปวง

ถ้าไม่เริ่มเรียนรู้ ลึกซึ้ง เข้าใจ ถ่องแท้ในศีลตัวนี้ ...จะไม่มีการรู้ลึกซึ้งถ่องแท้ในธรรมทั้งหลายทั้งปวงได้เลย


(ต่อแทร็ก 16/17)