วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/24 (2)


พระอาจารย์
16/24 (570928C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
28 กันยายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 16/24  ช่วง 1


พระอาจารย์ –
   พอสะกิดให้มันแตกตาใบตาดอกขึ้นมา  ก็มาเจอความมืดทับซ้อนอีก...กูจะไปทางไหนดี  ก็สะเปะสะปะอยู่ ...สุดท้ายก็ทิ่มลงดิน ลงที่เดิมคือเหง้า

เห็นมั้ย กว่าจะผ่านพ้นเนยยะขึ้นมา ...ลองนึกถึงว่ากอบัว...เราก็นึกว่าน้ำตื้นมั้ง ตามภาพที่เขาเขียน ตามพุทธประวัติน่ะ น้ำก็แค่นี้ มันก็ขึ้นมาง่าย มองภาพว่าง่าย

แต่เหง้าบัวของพวกเรานี่ ให้นึกภาพอยู่ถึงก้นมหาสมุทร ...แล้วกำลังอยู่ใน...เนยยะ...ผู้ปฏิบัตินี่อยู่ในขั้นตอนที่กำลังบ่มอินทรีย์ บ่มศีลสมาธิปัญญา

คือต้องเป็นผู้ที่พากเพียร ...เนยยะนี่คือผู้ที่พากเพียร...อยู่ตรงไหน ...กำลังพากเพียรหาทางแห่งมรรค กำลังที่จะพากเพียรเดินไปบนมรรค ท่านเรียกว่าเนยยะหมดเลย

เพราะนั้นมันยังอยู่ในอาการที่ว่า...ลูกผีลูกคน ผีบ้างคนบ้าง...ผีมากกว่าคน ...คือฝั่งความคิดฝั่งอารมณ์ เรียกว่าผีหมด  ฝั่งคนคือฝั่งกาย ฝั่งธาตุขันธ์ ธาตุมหาภูตรูป นี่ฝั่งคน

ซึ่งส่วนมากไม่ใช่ครึ่งผีครึ่งคน...มันผีมากกว่าคน ...เป็นสัมภเวสี ล่องลอยไปตามอารมณ์ กิเลสน้อยใหญ่ ในภพที่เวิ้งว้าง ไม่มีที่สิ้นสุด ...นี่คือความมืดระหว่างเนยยะ

กว่าที่จะไปเจอถึงแสงของพระอาทิตย์ที่ชั้นพื้นผิว แล้วก็มุ่งตรงต่อแสงพระอาทิตย์...คือเหนือน้ำเลยนั้นน่ะ ...นั่นคือเนยยะขั้นสูงแล้ว

จนถึงเรียกว่าอุคฆฏิตัญญู ...ถึงตรงจุดนั้นเรียกว่าไม่หวนคืนแล้ว ไม่ลงมาสู่เหง้าแล้ว ...นี่คืออริยะขั้นสูง หรือกำลังจะเป็นไปสู่ความเป็นอริยะขั้นสูง

กว่าจะพ้นน้ำ ได้แดด ...ก็ยังแตกออกมาเป็นใบบ้าง เป็นกอบัวบ้าง  มันยังไม่ใช่จะได้ทีเดียวเลย ...บัวก็ยังไม่บาน เพราะมันออกมาทีไรเป็นใบทุกทีเลย

แต่ก็อาศัยใบบัวนั่นแหละ...เป็นกอบัวที่สะสมอาหารหล่อเลี้ยงเหง้า จนเติบโตแข็งแรงถึงขึ้นมาเป็นดอก แล้วก็ผลิดอกบานออกมาเป็นดอกบัว...คือหลุดพ้น 

นี่ ท่านเปรียบเทียบอย่างนี้นะ ...พระพุทธเจ้าท่านใช้อรรถ พยัญชนะ เปรียบเทียบความเป็นไปของเหล่าสรรพสัตว์ผู้ปฏิบัติธรรม 

ส่วนไอ้ที่ล้มหายตายจากด้วยเต่าปูปลาหอยกุ้ง...นี่ ไม่ได้พูดถึงแมลงภู่หรือนกกานะ เพราะไอ้นั่นไม่อยู่ในน้ำแล้ว ...ไอ้นี่ที่หอยปูปลา มันโฉบเฉี่ยวกินไประหว่างผู้ปฏิบัตินี่แหละ...ขั้นตอนของเนยยะนี่แหละ 

มันมาล่อมาลวง มาหลอกมาหลอน มาให้มี มาให้เป็น มาให้ไปจริงจัง มาให้เกิดความสับสนลังเลว่า...กูจะขึ้นไปหาพระอาทิตย์หรือกูจะดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรต่อดี

ก็ต้องอาศัยธรรมะพุทธะบ้าง สังฆะบ้าง นี่คอยเอามาดาม ว่า...เฮ้ย ขึ้นๆๆ ...บางทีก็ใช้ไม้ดาม บางทีก็ใช้เหล็กดาม บางทีก็เอาคำพูดดาม บางทีก็เอาคำชมดาม บางทีก็เอาคำด่าดาม

เพื่อให้มันตรงขึ้นไปข้างบนซะ ตรงไปหาแสงอาทิตย์ นี่ ...ถ้าหนักหนาสาหัสก็เรียกว่าต้องเอาเหล็กหนาๆ ทุบ ตี...ให้มันตรงขึ้นมา ...คือส่วนมากด่า...ไม่ชมน่ะ กิเลสมันร้ายแรง ชมมันยิ่งได้ใจ 

ก็ด่าตบตีกิเลส มันถึงจะรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมาได้บ้าง...แค่ได้บ้างนะ ...กว่าที่มันจะรู้เนื้อรู้ตัวได้ด้วยตัวของมันเองนี่ เรียกว่าต้องใช้เวล่ำเวลากันพอสมควร 

แต่อย่าท้อถอย อย่าหยุดเดิน อย่าหยุดปฏิบัติ ...ให้มุ่งมั่นอยู่ในศีลสมาธิปัญญา เอาว่า...จวบจนวาระสุดท้ายแห่งความตาย แค่นั้นน่ะพอแล้ว ...ตั้งสัจจะไว้แค่นั้น 

"ตราบใดที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ตราบใดที่ยังไม่สิ้นอายุขัย...จะไม่ทิ้งการภาวนารู้ตัวเลย" นี่ ต้องเอาสัจจะอย่างแรงอย่างหนัก ประจำจิตประจำใจ ประจำกิเลส ประจำกายไว้ 

ไม่อย่างนั้นน่ะ กิเลสคาบไปกินหมด ...เรื่องราวน้อยใหญ่ในโลก ในธรรมในโลกที่เขาสรรสร้างขึ้นมา  มันล้วนแล้วแต่หอมหวนหอมหวานยั่วยวนใจ 

มันน่าลิ้มลองหมดเลย น่าเข้าไปซ้องเสพข้องแวะหมดเลย น่าเข้าไปค้นหาหมดเลย  มันล่อหูล่อตา ล่อเรา  ล่อความอยาก-ความไม่อยากของเราอยู่ตลอดเวลา

กว่าจะรอดจากอารมณ์เหล่านี้...ที่มันดักโฉบกินอยู่ พาไปลงตกร่องปล่องชิ้นกับมันอยู่ นี่ ...จะต้องมีสัจจะอย่างแรงกล้าทีเดียวในการปฏิบัติ

ไม่ใช่ไปนั่งข้ามวันข้ามคืน ไม่ใช่ไปเดินจงกรมปฏิบัติข้ามวันข้ามคืน ...แต่ว่าสัจจะที่จะรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เสมอนั่นเอง ไม่ทิ้งการรู้เนื้อรู้ตัวไป ไม่ออกนอกเนื้อนอกตัวไป ไม่ห่างไกลจากการรู้ตัวไว้

ถ้ามันจำเป็นจะต้องห่างออกจากการรู้ตัว...ก็ให้ดึงจำกัดลิมิทเวลาว่าช่วงนี้แค่นี้พอแล้ว  หมดวาระธุระนั้น กิจนั้น ภาระนั้น...ก็รีบกลับ กลับบ้านเรา

อย่าไประหกระเหินเร่ร่อนเป็นสัมภเวสี เดี๋ยวมันจะตกระกำลำบากอยู่ท่ามกลางความเป็นสัมภเวสีนั้น หมอผีมันจับลงหม้อไปถ่วงแล้วจะทำยังไง ...เห็นมั้ย ไปอยู่กับมันได้หรือ

นั่นน่ะคือภพ...มันจะไปดัก แล้วก็ต้องไปเสวยภพนั้น ชาตินั้น...ทั้งอสุรกาย ทั้งเปรต ทั้งสัตว์นรก ทั้งสวรรค์เทวดาอินทร์พรหม ...พวกนี้เหมือนกับเป็นหม้อถ่วงสัมภเวสีให้มันไปค้างคาอยู่ตรงนั้น

เป็นภพเป็นชาติ เสวยภพเสวยชาติ ...แล้วแต่ละหม้อบางทีก็ไม่ใช่หม้อดิน มันเป็นหม้ออลูมิเนียม...โคตรจะนานเลย กว่าที่หม้อมันจะผุพังแตกสลายไป

เสร็จแล้วเมื่อมันแตกสลาย ...ทุกหม้อที่มันขังเป็นสัมภเวสีผีร้าย มันขังไว้ ขังจิตขังใจไว้ให้ไปเกิดไปตายอยู่ในนั้น ...ท้ายที่สุดก็แตกแล้วก็กลับมาเป็นคน...เหมือนเดิม

เพราะคนหรือมนุษย์นี่คือภพที่เป็นกลาง ในเหล่าสามภพ มันเป็นทางสามแพร่ง...ขึ้นสวรรค์ ลงนรก ไปพรหม...คือทางสามแพร่ง คนมันเป็นจุดเริ่มต้น จุดตั้งต้นของการเดินไปในภพ ก็ได้มาอาศัยภพมนุษย์เป็นบาทฐาน

เพราะนั้นเมื่อได้ความเป็นมนุษย์ ได้ธาตุได้ขันธ์นี้มา ได้กายได้ใจนี้มาแล้วนี่ ...ก็ต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด ตราบเท่าที่ลมหายใจยังมีอยู่

หาความรู้ หาความเห็น หาความเข้าใจ ค้นคว้าความเป็นจริงในมันให้ได้มากที่สุด ...ให้เต็มสติ เต็มสมาธิ เต็มปัญญา เต็มกำลังแห่งการปฏิบัติ

อย่าไปเต็มที่ อย่าไปจริงจังกับเรื่องราวใดๆ ที่นอกเหนือจากศีลสมาธิปัญญา กายใจปัจจุบัน...แค่เนี้ย ไม่นาน ...ถึงจะข้ามชาติก็ไม่กี่ชาติหรอก

เพราะว่ากายก้อนนี้...กว้างคืบยาววาหนาศอก มันไม่ใหญ่โตมโหฬารอะไรนัก ที่จะต้องใช้อายุในการเรียนรู้กับมันจนว่า...จะรู้โดยตลอด รู้โดยแจ้งนี่ต้องใช้เวลาเป็นอสงไขยล้านชาติเลย

พระพุทธเจ้า ท่านยังพูดไว้ว่า...เจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปีเท่านั้นเอง ก็แจ้งจบหมดแล้วในกระบวนการแห่งกาย แห่งศีล ด้วยความถ่องแท้ในกายในศีล

ว่าคืออะไร ความเป็นจริงอยู่แค่ไหน มีความเป็นเรามั้ย ...สำหรับผู้ที่รักษาสติในกาย สติในปัจจุบันกาย อย่างเข้มงวดกวดขันนี่ ไม่นานจนข้ามเป็นหลายๆ ชาติเลย

แต่ไอ้ที่เผื่อไว้เพราะอะไร ...เพราะพวกเราไม่ได้เป็นผู้ที่ยึดมั่นในศีลจริง ....เหล่านี้ต่างหากคือมันข้าม...ข้ามกาลเวลาไปอีกหลาย ...จนข้ามโลกข้ามจักรวาล 

จนหมดโลกหมดจักรวาล สร้างจักรวาลสร้างโลกขึ้นมาใหม่ ก็ยังไม่เต็มในศีลสมาธิปัญญาสักทีนึง สักชาตินึงเลย ...เพราะไม่ใส่ใจขวนขวาย ไม่มุ่งมั่นจริงจัง ไม่มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ต่อศีลสมาธิปัญญา

โทษใครไม่ได้เลย โทษที่ตัวเจ้าของจิตกิเลสดวงนั้นน่ะ...ไม่มุ่งมั่น ไม่ใส่ใจ ไม่ขวนขวายในการปฏิบัติ ...ให้กิเลสมันนำหน้า ให้กิเลสมันออกหน้าออกตาอยู่ตลอด จับไม่ได้ไล่ไม่ทันกิเลสหรอก

เอ้า ประมาณนี้แหละในข้อความ ...ถามมั้ย ฟังหลายรอบแล้วนี่


โยม –  ไม่มีครับ

พระอาจารย์ –  รู้ตัว จนกว่ามันจะหมดคำถาม ...มันจะหมดคำถามเพราะรู้ตัว มันจะหมดสงสัยเพราะว่ามันรู้จนหมดความสงสัย ...วิธีการแก้ความสงสัยคือรู้ตัวเข้าไว้ แล้วจะหายสงสัยเอง

ที่หายสงสัยคือ...ไม่สงสัย  นั่นแหละที่เรียกว่าหายสงสัย ...ไม่ใช่ว่าไปค้นหาจนหายสงสัย  แต่การไม่สงสัยเลยคือการแก้ความสงสัย คืออย่าสงสัย

เมื่อไม่ให้สงสัย...ก็ต้องให้จิตมันอยู่ในที่ที่มันจะไม่สงสัย  คือต้องมีที่อยู่ให้มัน ...ถ้าไม่มีที่ให้มันอยู่ในที่นี้ ...ในที่ศีลตั้งอยู่ กายตั้งอยู่นี่ ...จิตมันจะทำงาน 

ซึ่งหน้าที่การงานของมันคือตั้งหน้าตั้งตาสงสัย ...“เอ๊ะ ออกไปนี่ฝนจะตกไหม” “เอ ฝนที่บ้านตกรึเปล่า จะเปียกมากไหม” สงสัยมั้ย...สงสัย ...ถ้าออกนอกนี้ไปสงสัยหมดน่ะ

เพราะไม่รู้มันจะมีอะไร เกิดอะไร มากหรือน้อย ใช่หรือไม่ เหมือนอย่างที่คิดไหม ...มันก็สงสัย มันเป็นอยู่ท่ามกลางความสงสัยตลอด

ถ้าจิตออกนอกนี้ไป ...ไม่ใช่เฉพาะสงสัยในธรรม  โลกกูก็สงสัย ความเป็นไปในโลกก็สงสัย...พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะเจออะไร พรุ่งนี้จะเจอใคร 

แล้วไอ้ใครผู้ที่กูจะเจอพรุ่งนี้น่ะ มันจะทำอะไรกับกู มันจะดีกับกูหรือมันจะเลวกับกู...สงสัย ...ตราบใดที่ไม่อยู่ตรงนี้ จะไม่มีวันหมดสิ้นซึ่งความสงสัยเลย

เพราะฉะนั้น "รู้ตัว" นี่ ...หายสงสัย หายสงสัยจนไม่อยากจะสงสัย จนไม่อยากจะรู้เห็นอะไรน่ะ จนไม่มีอะไรมีค่าสำคัญพอที่จะให้ออกไปรู้เห็นกับมันน่ะ

นั่นแหละเก็บเกี่ยวผลของศีลสมาธิปัญญาไป...จะได้ผลอย่างนั้น หายสงสัยเอง ...เอ้า เท่านี้


.................................



แทร็ก 16/24 (1)


พระอาจารย์
16/24 (570928C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
28 กันยายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ

พระอาจารย์ –  ที่เล่า ที่อธิบายนี่...ก็เพื่อให้เห็นแบบอย่าง แบบแผน...ของการประกาศพระศาสนา และการปฏิบัติธรรมในพระศาสนา

ตั้งแต่พระพุทธเจ้าท่านวางแผนการปฏิบัติ การสั่งสอนอย่างไร ...แล้วให้ลูกศิษย์สาวกท่านสอนอย่างไร...เบื้องต้นเลย นี่ จนพระอัสสชิน่ะไปได้ลูกศิษย์

พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ ...ที่ได้เป็นพระอัครมหาสาวกซ้าย-ขวา นั่นน่ะ เหมือนแขนขาพระพุทธเจ้า ต่อแขนขาพระพุทธเจ้าในการแผ่ศาสนา ...ก็ได้มาจากพระอัสสชินี่เป็นผู้ชักจูง ชี้นำ

พระสารีบุตรนี่ ก่อนนอน...จะต้องตรวจสอบก่อนเลยว่าพระอัสสชิไปอยู่ที่ไหน แล้วหันหัวไปทางนั้น ไม่เคยหันเท้าไปสู่ทิศทางที่พระอัสสชิท่านอยู่

แม้พระอัสสชิจะอยู่ไกลอยู่ใกล้ที่ไหน  แต่ถ้าเป็นทิศทางที่พระอัสสชิอยู่ ท่านไม่เคยหันเท้าไปทิศทางนั้น...ตราบเท่าชีวิตพระอัสสชิจะดำรงอยู่ 

นี่ พระสารีบุตรท่านให้ความเคารพมาก ...เพราะถ้าไม่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ จะไม่ได้เข้าถึงพระพุทธเจ้า จะไม่ได้เจอพระพุทธเจ้าเลย

เห็นมั้ยว่า ความงดงามในการปฏิบัติ ...ไม่ได้งดงามด้วยวัตถุข้าวของ ไม่ได้งดงามด้วยพิธีรีตอง ไม่ได้งดงามด้วยคำพูดที่สวยหรู ไม่ได้งดงามด้วยคัมภีร์จารึก

แต่งดงามด้วยศีลสมาธิปัญญาภายใน...แบบเรียบง่ายและตรงไปตรงมา แบบซื่อๆ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมเล่ห์กล ไม่ซับซ้อน แบบถือปัจจุบันธรรม ปัจจุบันปฏิบัติ ปัจจุบันศีล ปัจจุบันภาวนา เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แม้แต่การฟังธรรมของพระอัสสชิกับพระสารีบุตร ...ท่านก็ยังยืนฟังอยู่ท่ามกลางที่พระอัสสชิบิณฑบาต แล้วท่านก็หยั่งลึกเข้าไปถึงใจ...ในสภาพที่ว่าดวงตาเห็นธรรมกำลังจะเกิด

ท่านมีความเชื่อมั่นในศีลสมาธิปัญญาและพระอัสสชิอย่างยิ่ง แล้วก็ยังไปจดจำคำที่พระอัสสชิพูดสอน 

"ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุ  พระพุทธเจ้า พระสมณโคดมท่านตรัสสอนถึงธรรมที่เข้าไปสู่ความดับที่เหตุนั้นๆ" ...นี่คือธรรมะ นี่ก็เป็นวัจนะของสาวกอีกเช่นเดียวกัน

จะตัดออกดีไหมเนี่ย ไม่สมควรเชื่อมั้ย หือ เพราะไม่ใช่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสสอน ...แต่กลับทำให้ได้หัวเรือใหญ่ สองแขนขาซ้าย-ขวาของพระพุทธเจ้า คือพระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร 

กระทั่งพระสารีบุตรนี่ ยังจดจำธรรมประโยคนี้ไปบอกกับพระโมคคัลลาน์ ...ซึ่งท่านเป็นสหายกันมาสักเป็นร้อยชาติแล้วมัง ไปไหนไปโตย...พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลาน์นี่ 

เหมือนกับเป็นคมมีดกับฝัก ไปไหนคู่กันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ผูกสนิทมิตรสหายกันมาตั้งแต่โคตรเหง้าเหล่ากอ ทุกเหล่ากอที่เกิด แล้วก็มีความมุ่งใฝ่ในธรรมเหมือนกัน

แค่ยกคำกล่าวของพระอัสสชิที่เจอกันข้างถนนในตลาด...ไปพูดให้พระโมคคัลลาน์ฟัง ...พระโมคคัลลาน์ยังเข้าใจเลย ยังเห็นตามธรรมนั้นๆ ว่าจริงเลย

เสร็จแล้วสองท่าน...พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลาน์ ก็ยังเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงอาจารย์ท่านอีกคือสัญชัย เป็นลูกศิษย์สัญชัย หนึ่งในห้าศาสนาที่แข่งพระพุทธเจ้าตอนยุคนั้น

สัญชัยผู้เป็นอาจารย์ฟังแล้ว แต่ไม่มีการว่าน้อมธรรม  กลับถามพระสารีบุตรกลับว่า...สารีบุตร ในโลกนี้มีคนฉลาดหรือคนโง่มากกว่ากัน  พระสารีบุตรบอกว่า...คนโง่มากกว่า

สัญชัยก็บอกว่า...สารีบุตร โมคคัลลาน์  เธอเป็นคนฉลาด เธอจงไปอยู่กับผู้ที่ฉลาด ...เราคนโง่ เราจะอยู่กับคนโง่ที่มากมายในโลกนี้ล่ะ ...นี่ ปฏิเสธนะ นี่ถือเป็นการปฏิเสธธรรมแบบนิ่มๆ 

แต่แสดงถึงความโง่เขลา เห็นแก่ได้ เห็นแก่ความเชื่อ เห็นแก่อามิสของคนโง่ในโลกที่มีมากกว่าคนฉลาด ...จึงไม่ไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าตามที่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ชักจูง

สองคนนั้นก็เลยกราบลาไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า...พร้อมกันกับลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็มีลูกศิษย์ลูกหาแล้ว แต่ละฝั่งก็หลายร้อย ...ก็ชวนกันไปหมดทั้งสองกลุ่ม 

จนพระสารีบุตรน่ะไปสำเร็จธรรมอยู่ที่เขาคิชกูฏ ถ้ำหมู ที่ได้กำลังใหญ่นั่นน่ะ ...นี่ พระพุทธเจ้าท่านก็ประกาศศาสนาด้วยการจาริกนะ ท่านก็ไม่อยู่กับที่นะ 

ท่านประกาศธรรมด้วยการจาริกไปด้วยตัวของท่านเอง ถือตัวท่านเองเป็นตัวประกาศธรรม ...ใครมาใครเห็นก็มาทักก็มาถาม ใครมานิมนต์มาเชิญให้ไปท่านก็ไป ใครขุ่นข้องสงสัยอย่างไรท่านก็ตอบ 

นี่คือการประกาศธรรม ประกาศความเป็นจริงของธรรม ...ซึ่งไม่ใช่ว่าประกาศธรรมของท่าน แต่เป็นการประกาศธรรมตามความเป็นจริงที่ท่านเห็น ท่านรู้...แล้วคนอื่นไม่เห็น ไม่รู้ ...ท่านก็บอก

เนี่ย จึงเป็นเหมือนไฟลามทุ่ง ...ความใคร่กระหายรู้ธรรม เห็นธรรมของคนในยุคนั้นจึงเกิดขึ้น แผ่กระสานไปทั่วชมพูทวีป ...พระอรหันต์ พระอริยะ มากมายราวดอกเห็ด

ความชัดเจน ความชัดแจ้งในธรรม ความสว่างไสวในธรรมมากมายเหลือเกิน ที่สิงสถิตอยู่ในใจของสัตว์มนุษย์ ...ไม่มืดมนอนธการเหมือนสมัยนี้ จะหาอริยจิตสักองค์สักคนก็ยาก

เพราะนั้น...แค่ศีลสมาธิปัญญาอย่างที่เราบอก พอแล้ว พอให้ถึงนิพพานแล้ว ...แค่รู้ตัว ไม่ออกนอกตัว ไม่ให้ไปรู้นอกตัว พอแล้ว

อย่าไปดิ้นรนขวนขวายว่า ต้องรู้นั้น ต้องเห็นนี้ ต้องได้อย่างนั้นก่อน ต้องได้อย่างนี้ก่อน แล้วพร้อมกันนั้น ไอ้ที่เคยรู้มาเก่าก่อนเหล่านี้ก็ให้ทิ้งซะ อย่าไปเก็บไว้

อย่าไปเก็บไว้แม้ซึ่งความทรงจำใดทรงจำหนึ่ง ให้มันมารบกวนจิตใจ...ให้เกิดความทะยานอยาก...ไปออกนอกองค์มรรค ออกนอกเนื้อนอกตัว

เพราะนั้นไอ้ที่เป็นอนาคตธรรมก็ไม่ต้องไปหา และไอ้อดีตธรรมที่สะสมไว้ก็ให้ทิ้งซะ เพื่อดำรงคงอยู่ในองค์มรรคให้มั่นคง เพื่อดำรงความรู้ความเห็นในกายใจให้ชัดเจน

นี่คือหน้าที่ของผู้ปฏิบัติซึ่งตรงต่อธรรม ผู้มุ่งตรงต่อธรรมแล้วเมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติมุ่งตรงต่อธรรม ผู้นั้นก็จะมุ่งตรงต่อนิพพานโดยปริยาย คือเป็นไปสู่ความไม่กลับมาเกิดข้องแวะกับธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้อีกต่อไป

เพราะฉะนั้น ฟังมายาวเหยียดเป็นชั่วโมงหลายชั่วโมงนี่ จบลงที่ว่า...รู้ตัวเข้าไว้ แค่นั้นเอง ...เห็นมั้ย ต่อให้เราอธิบายจนถึงรุ่งเช้า เราก็พูดได้ ... แต่สรุปคือ...รู้ตัว...แค่นั้นแหละ

ศีลสมาธิปัญญา...มีแค่นี้เอง ...รวบรัด กะทัดรัด แต่ชัดเจนและได้อรรถ..โดยอรรถ ...ไอ้ที่พูดสามชั่วโมงนี่โดยพยัญชนะ ...แต่โดยอรรถ เชิงอรรถ โดยความหมายที่แท้จริง ...การปฏิบัติทั้งหมดรวมลงที่รู้ตัวไว้ 

ให้จิตมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ...ยากดีมีจน สุข-ทุกข์...รู้ตัวไว้  อยากดี อยากเด่น อยากเก่ง อยากได้ อยากเห็น...รู้ตัวไว้ ...มันจะต้องอยู่ในภาวะนี้แน่ๆ ...เจอแน่ๆ ตลอดเวลา

เพราะพวกเราไม่ได้อยู่ในสถานะของปัญจวัคคีย์ มันก็เลยเป็นภาวะซ้ำซาก ...แต่ถ้าเป็นภาวะของปัญจวัคคีย์ แค่พระพุทธเจ้าบอก...ชี้ปึ๊บ ท่านเห็นปุ๊บ ท่านวางปั๊บ ...อยู่เลย จิตนี้อยู่เลย

เพราะระหว่างที่รอพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้  ๖ ปีน่ะ ท่านก็คร่ำเคร่งอยู่ภายในอยู่แล้ว ...คือมีการอบรมเคี่ยวกรำจิตกันทั้งนั้นน่ะพวกนี้ เข้าใจมั้ย

ท่านบ่มของท่าน...แม้ไม่ได้ตรงต่อศีลสมาธิปัญญา แต่ท่านก็บ่มโดยประสาของท่าน ...พอพระพุทธเจ้าท่านบอกทาง...ก็เหมือนมา “คลิก” อ่ะ ...

คือแต่ก่อนมันบิดเกลียวแล้วเหมือนมันฝืดน่ะ หรือเกลียวมันปีนเกลียวอยู่ตลอด มันไม่ลงเกลียวสักที  มันคลายไม่ออก ...พอพระพุทธเจ้ามาบอกให้ถูกเกลียว ลงเกลียวปึ้บนี่...มัน ปึ้บ ลงล็อคเลยน่ะ

แต่ของพวกเรานี่มันหลายเกลียวเหลือเกิน ...ไปแล้วไปเล่าๆ  ไปซ้ำไปซาก ...อยู่แล้วก็ไม่อยู่จริง อยู่แล้วก็ไปอีก ไปแล้วก็ไปต่ออีก อย่างนี้...มันก็ต้องนานหน่อย

กว่าที่มรรค...มันจะตรงต่อมรรค ตรงต่อกาย ตรงต่อศีล ตรงต่อปัจจุบัน ...จนหยุดอยู่กับปัจจุบัน จนสนิทนิ่งกับปัจจุบัน ...นี่ ต้องใช้เวลา

เพราะเท่าที่เห็นมา ...เราไม่เคยเห็นอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู มานั่งฟังเราเลยแม้แต่คนเดียว ...ยกเว้นแต่ปทปรมะ หรืออย่างเก่งก็แค่เนยยะ

ตอนนี้กำลังยกระดับจิตขึ้นมาเป็นเนยยะ ...เนยยะคือออกจากเหง้าน่ะ  รู้จักเหง้าบัวไหม แค่เหง้า แล้วก็ทิ่มขึ้นมา ...ถ้ายังเป็นเหง้าอยู่นี่เรียกว่าปทปรมะ

พอมันแทงตา มีตางอกขึ้นเป็นตาใบหรือตาดอกก็ตาม ...นี่ ถือว่าเป็นการแทงตาใบขึ้นมา...พวกเรานี่ คงไม่ใช่ตาดอกหรอก น่าจะเป็นตาใบ ...แทงขึ้นมาออกจากเหง้านี่ ก็เรียกว่าเนยยะ

มันแทงจะไปหาแสงพระอาทิตย์ ...แต่คือมันประเภทบัวอยู่กับก้นมหาสมุทรล่ะมั้ง (หัวเราะกัน) ... "พระอาทิตย์อยู่ไหนล่ะนี่กู มองไม่เห็นแสงรำไรเลย"

มันก็แทนที่มันจะแทงขึ้นมา มันก็แทงกลับ มันแทงลงเหง้าอีก เอ้า ...เออ นี่เนยยะ ไม่ใช่ว่ามันแทงแล้วมันจะเห็นแสงอาทิตย์เลยนะ ถ้าเห็นแสงอาทิตย์มันก็ไม่แทงลงกลับที่เหง้าเดิมของมันหรอก 

ก็มันไม่เห็นน่ะ ...เพราะมันอยู่ประเภทแถวเกษียรสมุทรน่ะ ใต้ก้นมหาสมุทรเลยอย่างนี้ มืดตึ้บ  ...โอ้ย แทงหน่อมานี่ก็เก่งตายห่าแล้ว (โยมหัวเราะกันอีก)

แล้วก็ดินมันทับถมอีกตั้งเท่าไหร่ล่ะ มันอยู่ในประเภทดินทับซ้อนไม่รู้กี่ชั้น ปิดบังกายใจจนถึงขั้นที่งมอยู่ว่า...กายอยู่ไหนครับ อย่างนี้กายรึเปล่าครับ

ถามอยู่นั่น ...ก็บอกว่าอยู่ตรงเนี้ย  ยังว่า...อยู่ไหนครับ ...มันยังไม่รู้จักเลย 


(ต่อแทร็ก 16/24  ช่วง 2)



แทร็ก 16/23 (2)


พระอาจารย์
16/23 (570928B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
28 กันยายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 16/23  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อจิตมันหยุดตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน มันไม่ไป ...นี่เขาเรียกว่าพักฟื้น เห็นมั้ย อย่างที่เราบอก มันอยู่ในสถานที่พักฟื้นจากกิเลส ...มันก็อยู่ตรงนี้

พอมันอยู่ตรงนี้ ...ไอ้ตรงนี้มันมีอะไร ...มันก็ปรากฏความมีของกาย ที่เป็นกายตามความเป็นจริง กายตามความรู้สึก กายธาตุ กายเวทนา 

มันปรากฏอยู่โดยสภาพที่ไม่ได้ทำขึ้นมาใหม่ ไม่มีจิตทำขึ้นมา ...เพราะจิตมันอยู่ ไม่ได้ไปทั้งความอยาก การสร้าง การกระทำ...มันอยู่ ...นี่โดยใช้การฟัง

พอมาอยู่กับตรงที่กายปรากฏ เอาว่าตรงนั้น...ด้วยความที่ไม่รู้ไม่เห็นในองค์มรรคเลย ไม่รู้ไม่เห็นในความหมายของอริยสัจเลย ไม่รู้ไม่เห็นว่าจะทำยังไงต่อไปกับสภาพอย่างนี้ 

ก็เหมือนกับอยู่ในภาวะที่ตีบตัน ...พอในท่ามกลางความตีบตัน ไม่รู้จะทำอะไรต่อไปยังไงดี  เพราะกิเลสมันยังมีอำนาจบีบคั้นอยู่ ยังไม่แจ้ง ยังไม่ทะลุ

นี่ พระพุทธเจ้าท่านก็อธิบายขยายความว่า อริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง  ท่านก็พูดตั้งแต่ทุกขสัจ...ท่านก็พูดต่อจากมัชฌิมาไปอริยสัจ ๔ ว่าถึงทุกขสัจ

ทุกข์คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ ...อะไรที่ปรากฏอยู่ ท่านเรียกว่าทุกขสัจ...คือสภาพที่คงอยู่ได้ยาก มีความเสื่อมไปสลายไปในตัวของมันเองโดยที่ไม่ต้องมีใครไปกระทำต่อมัน ...ท่านเรียกว่าทุกขสัจ

นี่ก็ไปพอดีกับที่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าท่านเห็น ...อะไรที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า คือความรู้สึกที่เป็นกายตั้งอยู่นี่ ...พระพุทธเจ้าก็พูดว่า อะไรที่ปรากฏอยู่นี่ ท่านเรียกว่าทุกขสัจ

แล้วท่านก็ยังบอกต่อว่า...กิจที่พึงกระทำต่อทุกขสัจ ให้พึงกำหนดรู้ ...ท่านไม่ได้บอกให้ละ ท่านไม่ได้บอกให้ทำลาย ท่านไม่ได้บอกให้ปัดเป่าให้สลายไป ...แต่ท่านบอกว่าให้พึงกำหนดรู้

พระอัญญาโกณฑัญญะตลอดทั้งปัญจวัคคีย์ ท่านอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า ท่านไม่ดื้อด้าน ท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เป็นสันดาน เป็นผู้มีความนอบน้อมต่อธรรมที่ใคร่กระหายอยากรู้เห็นในธรรม

ท่านเชื่อฟัง ...พอพระพุทธเจ้ามาพูดว่า ทุกขสัจพึงกำหนดรู้  กิจที่ควรทำต่อทุกขสัจ ให้พึงระลึกรู้  ท่านก็ทำตามอย่างไม่อิดออด...ณ ตรงนั้น ณ เดี๋ยวนั้น ณ ปัจจุบันนั้นที่ได้ยินเลย

เห็นมั้ย การฟังธรรม...กับการปฏิบัติธรรมของพระปัญจวัคคีย์ถือว่าเป็นไลฟ์น่ะ...สดๆ  ไม่ใช่...เออ ฟังเสร็จ เดี๋ยวประมวล แล้วค่อยไปปฏิบัติทีหลัง

ไม่ใช่รอไปปักกลดภาวนาอยู่ราวป่าอิสิปตนะตรงนั้น หรือให้ห่างจากพระพุทธเจ้าท่านก่อน แล้วจะได้มีเวลาไปทำความรู้แจ้งตรงนั้น ...ไม่ใช่

ท่านเป็นผู้อ่อนน้อมต่อธรรม แล้วท่านเป็นผู้ใคร่ในธรรม ท่านเป็นผู้ขวนขวายในธรรม ...ท่านก็ทำตรงนั้นทันทีที่พระพุทธเจ้าท่านพูดถึงจุดที่ว่าทุกขสัจ แล้วให้ทำยังไงกับทุกข์เบื้องหน้าที่ปรากฏคือกาย

ท่านก็ทำโดยไม่อิดออด ลังเล ไม่สงสัย …แล้วระหว่างที่ทำ กิเลสที่มันฝังตัวอยู่ในจิตนี่...ยังมี ยังไม่หมด ...มันก็อยู่ในสภาพอย่างที่เราบอก มันก็เหมือนกับนกน้อยที่อยู่ในกรงขัง 

มันก็มีความดิ้นรน กระวนกระวาย ทะยานออก ...พยายามที่จะทะยานออกโดยสันดานแห่งจิต

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศ นี่ ท่านรู้กระบวนการของจิตอยู่แล้ว กระบวนการของผู้ฟัง ...ท่านก็กล่าวต่อในอริยสัจข้อต่อมา...ว่าถึงทุกขสมุทัย

มันก็พอดีกับอาการที่เหล่าปัญจวัคคีย์นั่นกำลังกำหนดรู้ทุกข์...แต่ว่ามันมีความกระวนกระวายแห่งจิต ที่จะไม่รู้เฉยๆ อยู่เฉยๆ กับทุกข์นี้ได้ แล้วเริ่มออกอาการสะเปะสะปะ

พระพุทธเจ้าท่านก็กล่าวถึงทุกขสมุทัย...ว่าสาเหตุแห่งทุกขสมุทัยคือตัณหา คือความทะยานอยากของจิต ...มันก็ปะพอดีกับการมีความทะยานของจิตของผู้ฟังตรงนั้น

ปัญจวัคคีย์ทั้งหมดตกอยู่ใต้สภาวะเดียวกัน กิเลสเดียวกัน เกิดความบีบคั้นโดยทุกขสัจ  รู้ทุกขสัจเดียวกัน เหมือนกัน ปฏิบัติในช่องทางเดียวกัน ทางสายเดียวกัน ...มันก็เกิดอาการแบบเดียวกัน

เมื่อกี้พระพุทธเจ้าบอกว่ากิจที่พึงกระทำต่อทุกข์ ท่านบอกว่ากำหนดรู้ ...แต่พอมาถึงสมุทัย ท่านบอกว่ากิจที่พึงทำต่อทุกขสมุทัย...ท่านบอกว่าให้ละ

ไม่ต่อ ไม่เติม ไม่เพิ่ม ไม่ไปประกอบเหตุร่วมด้วยกับมัน นี่คือกิจที่พึงกระทำต่อทุกขสมุทัย ...ปัญจวัคคีย์ก็ทำตาม ...ไม่ต้องรอให้พระพุทธเจ้าพูดจบ ท่านทำเลย ...ละๆๆๆ ละอย่างเดียว

จิตก็เกิดความแน่วแน่ มุ่งตรง ชัดเจนต่อทุกข์เบื้องหน้าคือกาย ...ความมุ่งมั่นต่อความรู้เห็นจำเพาะกายก็บังเกิด เป็นเส้นตรงสายเดียว จิตมุ่งตรงเป็นเส้นตรงแน่วแน่อยู่สายเดียว

พอถึงจุดนี้พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า...มรรค  ลักษณะอย่างนี้เรียกว่ามรรค ...แล้วก็บอกว่ากิจที่พึงกระทำต่อมรรค ท่านบอกว่า...ให้เจริญๆ ให้เจริญขึ้นมากๆ

ปัญจวัคคีย์ก็..พอถึงจุดนี้ เอาใหญ่เลย ...แน่วแน่ รู้เห็นตรงจิตที่มันคอยสะเปะสะปะ ที่มันจะคอยออกไปค้น ไปสร้าง ไปควาน ไปหา ไปเห็นโน่นเห็นนี่ เอานั่นเอานี่ 

ก็ไม่เอา...ละๆๆๆ ...แล้วก็มุ่งตรงต่อมรรค มุ่งตรงต่อทุกข์ รู้เห็นแต่ทุกข์คือก้อนกายกองกาย ...กำหนดรู้อยู่ถ่ายเดียวหน้าเดียวอย่างนั้น

ทำอยู่อย่างนี้สักช่วงระยะหนึ่ง ...อัญญาโกณฑัญญะก็อุทานขึ้นว่า อัญญาสิ อัญญาสิ...รู้แล้ว เห็นแล้ว รู้แล้ว เข้าใจแล้วๆ ...ลักษณะอาการคงปลื้มปีติยิ่งจนต้องอุทานขึ้นมา

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า นี่ผล...นิโรธ เป็นผลที่ได้จากการเจริญมรรค ...คือความดับไปสิ้นไป 

ทั้งความสงสัย ทั้งความถือมั่น ทั้งความไม่เข้าใจในขันธ์ ทั้งความไม่เข้าใจตามความเป็นจริงของกายใจ ทั้งความไม่เข้าใจความเป็นจริงของโลก ...นิโรธบังเกิด

นี่ท่านว่ากันแบบตัวเป็นๆ แล้วก็ทำต่อหน้ากันเลยน่ะ ...ไม่มีต้องมานุ่งผ้า ครองผ้า ห่มผ้า ถือศีลปลงอาบัติกันก่อน สมาทานศีลกันก่อน ...นี่ ไม่มีพิธีอะไรเลย อยู่ในป่า ราวป่าอย่างนี้ 

เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าก็ยังมาทวนซ้ำกับอัญญาโกณฑัญญะว่า...ไอ้ที่ว่าเห็นน่ะ เห็นอะไร รู้อะไร 

ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้อยู่แล้ว ...แต่ท่านก็ถามซ้ำเพื่อให้บัญญัติไว้ จารึกไว้ เป็นอรรถและพยัญชนะสืบเนื่องมาทุกวันนี้ ...จึงปรากฏวลีธรรม วัจนะธรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะ 

ที่บอกว่า...ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ  อย่างที่ว่า...สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ...ท่านตอบมาอย่างนี้

พระพุทธเจ้าจึงรับรองกลับว่า จักขุง อุทปาทิญานัง ...ดวงตาเห็นธรรมบังเกิดแล้วแก่อัญญาโกณฑัญญะ จริง ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อนจากธรรมตามจริง ...เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้ญาณทัสสนะเปิดแล้ว

แล้วจากนั้นมาตามลำดับลำดา อีกสี่ท่านอีกสี่องค์ จนไปสิ้นสุดที่พระอัสสชิ ก็สำเร็จรู้เห็นธรรม...แบบเดียว เฉกเช่นเดียวกับพระอัญญาโกณฑัญญะ...ตามลำดับ ในช่วงห้วงเวลาประมาณนั้น

ก็มีดวงตาเห็นธรรม อยู่ในระดับที่เรียกว่า...โสดาปัตติผล ยังไม่หมดสิ้นซึ่งกิเลสโดยสิ้นเชิง 

พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้หนีไปไหน ท่านก็ยังอยู่ที่นั่นเอง ซึ่งต่างคนต่างก็แยกย้ายกันอยู่ในบริเวณนั้น ไปเจริญมรรค ...ให้เข้มข้นในมรรคยิ่งขึ้น 

ความรู้จริง รู้ชัด รู้แจ้งยิ่งกว่าแจ้ง ชัดในกายใจ ตลอดถึงสามโลกธาตุ ก็ยิ่งพอกพูนบ่มเพาะไปตามลำดับ

แล้วพวกปัญจวัคคีย์ท่านก็ทิ้งช่วงห่างไป สิบห้าวัน เดือนนึง พอสมควรแก่เหตุแก่ธรรม ก็นัดแนะรวมตัวกันมาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอีกครั้ง

พระสูตรบทที่สอง ที่พระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์นี่  ท่านพูดถึงอนัตตลักขณสูตร...เป็นพระสูตรที่เนื้อใหญ่ใจความกล่าวถึงไตรลักษณ์ 

ความไม่เที่ยงของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฐฐัพพะ อายตนะ ธัมมารมณ์ทั้งหลาย ...ตลอดทั้งสามโลกธาตุ ตั้งอยู่บนความเป็นไตรลักษณ์

ความชัดเจนในธรรมที่เป็นไตรลักษณ์ จนถึงธรรมสูงสุดของไตรลักษณ์คืออนัตตา คือความว่างเปล่าจากสัตว์บุคคลตัวตน ซึ่งไม่ได้ว่างเปล่าแต่เฉพาะสัตว์บุคคลเท่านั้น 

มันว่างเปล่าไปถึงตัวตนที่ปรากฏ...ที่เรียกว่าทุกข์ที่ปรากฏ ก็ไม่มีตัวตนเป็นทุกข์ ทั้งทุกขสัจและทุกข์อุปาทาน ...นี่ก็จบสิ้น กิจแห่งพรหมจรรย์ ตรงที่อนัตตลักขณสูตรนั่น

พระพุทธเจ้าจึงบอกให้เธอทั้งหลายแยกย้ายกันไป จาริกธรรม ...ให้มีการจาริกธรรม ประกาศธรรมด้วยการจาริก ...ไม่ใช่ไปประกาศธรรมด้วยการตั้งคัทเอาท์ เชื้อเชิญ 

แต่ท่านให้จาริกธรรมไป และให้แยกย้ายกันจาริกไป อย่าไปในที่เดียวกัน ...ใครเห็น ใครศรัทธา มาเอง ...ใครอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นไปตามที่ศรัทธา ต้องมาหา ต้องมาฟังเอง

นี่ท่านให้สอนธรรมด้วยการจาริก...ประกาศธรรมด้วยการจาริกไป


(ต่อแทร็ก 16/24)