วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/21


พระอาจารย์
16/21 (570926C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 กันยายน 2557


พระอาจารย์ –  ถึงบอกว่าการปฏิบัติธรรมในยุคสมัยนี้ มันเหมือนตาบอดคลำช้าง 

รู้จักคนตาบอดคลำช้างมั้ย ...ไอ้คนหนึ่งจับได้ที่หาง มันก็บอกว่าช้างนี่เป็นลักษณะแบบนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นหรอก ...คนหนึ่งจับที่งา แตะโดนงา มันก็บอกว่าช้างนี่จะต้องเป็นลักษณะนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

แล้วไอ้คนที่จับโดนงา กับไอ้ที่จับโดนขนหาง มันก็ชกต่อยกัน...ว่าช้างจะต้องเป็นขน อีกคนก็ว่าช้างจะต้องเป็นแท่งๆ

ถ้าตราบใดที่มันยังไม่ลืมตาขึ้นมา แล้วเห็นทั่วทุกองคาพยพของช้าง ...ก็จะเห็นว่าทั้งหมดน่ะมันไม่ได้ผิดหรอก ...แต่มันไม่ถูก

มันยังไม่ถูกต้องตรงตามธรรมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง มันจึงเกิดการถกเถียงกัน ทิ่มแทงกันโดยธรรม อวดอ้างธรรมกัน เบ่งทับกัน

นี่เรายังงงอยู่เลย จะรักษาวินัย ๒๒๗ หรือจะรักษาวินัย ๑๕๐ ข้อดี (โยมหัวเราะกัน) ...มันทำให้กูงงนะนี่

อันไหนจะถูกกว่ากัน ๑๕๐ ตรงตามพุทธวัจนะ หรือ ๒๒๗ ตามที่วางกันมาตั้งแต่สมัยพระมหากัสสปะ ซึ่งนี่ก็สาวกนะ เป็นผู้สังคายนานะ ...จะตามพระกัสสปะหรือจะตามพุทธวัจนะดี

ไม่กระนั้นเลย ...เราก็มาตั้งอีกหนึ่งสำนัก (หัวเราะกัน) ...คือรักษาศีลเอก ...เอาข้อเดียวเลย เอากายเดียว เอากายหนึ่ง ...ไม่ต้องเถียงกันแล้ว

ผู้ชายก็มีหนึ่งกาย ผู้หญิงก็มีหนึ่งกาย พระก็มีหนึ่งกาย พระอริยะก็ยังมีหนึ่งกาย แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังมีหนึ่งกายเนื้อ ...นี่ เถียงมั้ยล่ะ มันแตกต่างกันมั้ยล่ะ 

นี่คือมีศีลเสมอกันมั้ยล่ะ เป็นศีลเอก เป็นเอกศีลมั้ย ไม่ต้องพูด ๑๕๐ หรือ ๒๒๗ แล้ว หนึ่งนี่เสมอกันหมด ...แต่ถ้ายังถือ ๑๕๐ หรือ ๒๒๗ หรือ ๕ หรือ ๘ นี่ ยังไม่เสมอกันนะ

เพราะนั้นโยมจึงต้องนั่งต่ำกว่าเราอย่างนี้ ใช่มั้ย นี่คือธรรมเนียมนะ ...แต่ถ้าเราลงไปนั่งต่ำ ลงไปนั่งที่พื้น แล้วโยมนั่งฟังเทศน์ข้างบนนี่ ...รู้สึกยังไงกันล่ะ

นี่ตามสมมุตินะ นี่ตามสมมุติธรรมบัญญัติธรรม สมมุติศีลบัญญัติศีล มันมีคำว่าเหลื่อมล้ำสูงต่ำกัน ...แต่ถ้าพูดในสถานะความเป็นคนนี่ นั่งตรงไหนก็ได้ คนเหมือนกัน เสมอกัน

เพราะนั้น ปล่อยให้มันเถียงกันไปจนเว็บแตก ก็ยังเข้าไม่ถึงศีลในองค์มรรค ก็ยังไม่เข้าถึงศีลที่จะเป็นไปเพื่อเข้าไปสู่ความรู้ความเห็นต่อกายที่แท้จริงเลย

เห็นมั้ยว่าเป้าประสงค์ วัตถุประสงค์แห่งศีลนี่ เป้าหมายใหญ่ใจความเพื่ออะไร ...เพื่อให้รู้จริง รู้จัก รู้แจ้ง กับความเป็นกายที่แท้จริง...นี่คือศีลแม่บท นี่ที่ท่านเรียกว่าหัวใจของศีล

ถ้าให้จิตนี่มันมารักษาศีลโดยการรักษาความเป็นไปของกาย ความปรากฏขึ้นของกาย ไม่ให้มันคลาดเคลื่อนจากความเป็นไปของกาย การปรากฏขึ้นของกายในปัจจุบันนี่

จิตมันจะไปล่วงเกินใครได้ จิตมันจะไปเบียดเบียนใครได้...ทั้งด้วยความคิด ด้วยความกระทำในความคิด ตามความคิด ด้วยการพูดตามที่มันคิด ถ้าจิตมันรักษากาย รู้อยู่เห็นอยู่จำเพาะกายนี้

เพราะฉะนั้นผู้ที่ถือศีลตัวนี้อย่างเคร่งครัดนี่ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียน ...หรือถึงแม้จะรักษาไม่ได้ แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเพียรเพ่งรักษาศีลตัวกายตัวนี้ไว้นี่

จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่กำลังจะออกจากความเบียดเบียนตนและสัตว์โลก ...เป็นผู้ที่กำลังเพียรพยายามที่จะรักษาศีลเพื่อไม่ให้จิตไปก่อความเศร้าหมอง

เพราะนั้นถ้าให้...ฝั่ง ๑๕๐ ฝั่ง ๒๒๗ ฝั่ง ๕, ๘, ๑๐ เหล่านี้มันล้มซะ แล้วให้เพียรมารักษาศีลหนึ่งศีลเอกตัวนี้ ...โลกนี่จะน่าอยู่ขึ้นเยอะเลย

โลกนี้ มนุษย์ที่อยู่ในโลกนี้ จะอยู่ไปด้วยความสันติ...ถ้าทุกคนมาคร่ำเคร่งอยู่ในศีลข้อเดียวนี้แหละ โดยไม่ให้จิตมันไปข้องแวะเกาะเกี่ยวกับเรื่องราว การกระทำคำพูดของสัตว์บุคคลอื่นเลยนี่

พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า ผู้ใดรักษาศีล ผู้นั้นจิตไม่เศร้าหมอง ...แต่ที่มันรักษากันแบบ..."ต้อง ๑๕๐" หรือ "ต้อง ๒๒๗" นี่ มันยังทะเลาะกันแทบโลกแตกนี่หือ ...มันศีลของพระพุทธเจ้าองค์ไหนวะเนี่ย

อย่ากระนั้นเลย เราก็ตั้งกับศีลเอกศีลหนึ่งนี่ ... ศีลตัวนี้...ที่ให้คร่ำเคร่งรักษานี่...เป็นประโยชน์แก่ตัวเองอย่างยิ่ง ...และเมื่อเอาไปปฏิบัติก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย 

ไปที่ไหน อยู่ที่ไหน ก็เป็นที่นับหน้าถือตายอมรับ ไปด้วยความสงบ จากมาก็จากมาด้วยความสงบ ไม่ติดค้าง ไม่ข้องคากับอะไร สิ่งใด บุคคลใด ...จึงเรียกว่าสุคะโตในระดับหนึ่ง 

รู้จักสุคะโตมั้ย ...เป็นผู้ไปก็ดี มาก็ดี ...ไม่ใช่เป็นผู้ไปก็ร้าย อยู่ก็ร้าย กลับมาแล้วยังร้ายยิ่งกว่าอีก ...ไอ้นี่ไม่เรียกว่าสุคะโต เรียกว่าทุกขโต ไปที่ไหนก็ก่อให้เกิดทุกข์ในสังคมนั้นๆ ชุมชนนั้นๆ

อยู่ก็เป็นทุกข์กับสังคม หน่วยงาน หมู่ชนนั้นๆ ...มันถูกไล่ออกไปแล้วจากสังคม มันยังทิ้งไว้เป็นสัญญาจดจำแบบ...เป็นสิบปี กูยังเคียดมันไม่หายเลย นี่ อย่างนี้คือผู้ไม่มีศีลหรือทุศีล

เพราะนั้นการปฏิบัติ...ถ้าไม่มาเริ่มต้นที่รักษาศีลให้มั่นคง ให้แข็งแกร่ง และให้เข้าใจถ่องแท้ในนัยยะที่แท้จริงของศีลแล้วนี่ ปฏิบัติไปจนผมหงอกฟันหักตาฟาง จนลงหลุมลงเมรุ ...ก็ยังไม่เข้าใจถึงมรรคถึงผล

อย่าประมาทกายนี้นะ...กว้างคืบยาววาหนาศอก...เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรม เป็นธรรมล้วนๆ เลย บรรจุเต็มเปี่ยมไปด้วยธรรมล้วนๆ เลย

แต่พวกเรามาอยู่กับก้อนธาตุก้อนศีลก้อนธรรมนี้...อย่างละเลยในธรรม มองก้าวข้ามธรรมนี้ไป ...กลับไปค้นคว้าไขว่ค้นตะกายดินตะกายดาวที่ไหนกัน

นี่เป็นของดี ของถูก ของชอบ ที่ได้มาพร้อมกับการเกิด ได้มาพร้อมกับตัว ได้มาพร้อมกับกาย ได้มาพร้อมกับธรรม ...แต่กลับไม่ใส่ใจไม่สนใจ ความเป็นไปแห่งธรรมนี้ การปรากฏขึ้นแห่งธรรมนี้

จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ละเลยในศีลและธรรม เป็นผู้ที่ห่างศีลห่างธรรม ...จนเป็นผู้ห่างไกล ห่างจนไกลจากศีลและห่างไกลจากธรรม

ต่อให้จะไปปฏิบัติที่ไหน ป่าเขาลำเนาไพร ที่ลึกลับซับซ้อนขนาดไหน...ถ้าไปปฏิบัติโดยที่ไม่รู้อยู่กับตัว ไม่รู้อยู่กับใจปัจจุบันนั้นๆ มันก็ไม่มีค่าเหมือนกับรู้ตัวอยู่ที่บ้าน

กายใจนี่ เป็นของที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลก ...เป็นขุมทรัพย์ เป็นบ่อทรัพย์แห่งธรรม ที่ให้ขุดให้ค้น เพื่อให้เกิดความรู้ในธรรม ความเห็นในธรรมขึ้นมา

แต่พวกเรากลับอยู่กับมัน ใช้กับมัน อาศัยกับมัน ปล่อยปละละเลยในมัน จนมันเปื่อย จนมันแก่ จนมันชรา จนมันหมดสภาพ จนมันผุพัง จนมันแตกจากกาย โดยที่ไม่ได้ใช้คุณค่าในธรรมกับมันเลย

น่าเสียดายในการเกิดมาแต่ละครั้ง ...แล้วจะยิ่งน่าเสียดายกว่า...สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วยังไปค้นหาในที่อื่นว่าเป็นธรรมที่สูงกว่ายิ่งกว่ากายนี้  

มันยังมัวลังเลสงสัย ยังขุ่นข้องกังวลใจ ยังไม่แน่ใจว่า...รู้อย่างนี้ รู้แค่นี้ จะไปนิพพานได้อย่างไร ...นี่มากี่ครั้ง ฟังกี่หน พูดจนปากฉีกถึงรูหูแล้วนี่ว่า...ไม่มีที่อื่นเลย 

ต่อให้เป็นอีกกี่สิบปีมาฟัง เราก็จะพูดเรื่องเก่านี่ เพราะมันไม่มีทางอื่น มันมีทางเดียว มันเป็นช่องทางเดียว...ที่เล็กๆ ซะด้วย ...ไอ้ที่มันมีหลายช่องทางนั่นน่ะจิตว่าเอาทั้งนั้น 

แต่ทางเดินของมรรคก็คือกายใจนี่ มันเป็นทางเดินของมรรคที่จำเพาะอยู่ในตัวของมันเลย ...แล้วทุกคนน่ะมีทางนี้จำเพาะมาพร้อมกับการเกิดแล้ว...แต่มันไม่เลือกที่จะเดินบนเส้นทางนี้ 

ปัญหามันอยู่ตรงนี้ ...ทางน่ะมี แต่กูไม่เดิน  กูจะไปเดินตามทางของกิเลส ...กิเลสคืออะไร ...ถ้าพูดถึงกิเลสก็น่ากลัว มันเป็นไปตามทางของจิตปรุงแต่งนั่นแหละ

เพราะนั้นไอ้ทางของจิตที่มันปรุง เป็นความคิด เป็นอารมณ์ เป็นความเห็น เป็นอดีต-อนาคตนี่ ...ท่านเรียกว่านอกลู่นอกทาง ออกนอกทาง มันไม่เป็นไปเพื่ออยู่บนทางเลย ...ทั้งๆ ที่ว่าทางนี้มีอยู่

ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติ มันก็จะอ้างว่าออกไปหามรรค แน่ะ ...มรรคของมันน่ะสิ มรรคของ “เรา” มรรคของมัน นั่น 

ก็มรรคมันมีอยู่ตรงนี้ ...มันจะไปหามรรคที่ไหน หาไปจนตายก็ไม่เจอมรรค ...ทั้งที่มันนั่งทับมรรคอยู่นี่มาตั้งแต่เกิด มันนั่งทับศีลสมาธิปัญญามาตั้งแต่เกิดจนตาย ...แต่ไม่รู้จัก

เพราะถูกคนรอบข้างนี่ไซโค เป่าหู สีซอ...ให้นกแก้วนกขุนทองฟัง ...คือถ้าเป็นควายมันไม่ฟัง กายนี่เหมือนควาย สีซอให้ฟัง กายก็คือควาย มันไม่สนใจอะไร ...แต่นี่คือสีซอให้นกแก้วนกขุนทองท่องขานแบบ..."แก้วขาๆ"

"พุทโธๆๆๆ" ...ไม่รู้พุทโธไปทำไม เขาบอกว่าโธแล้วจะดีเอง โธไปทำไมยังไม่รู้เลย โธแล้วจะได้อะไร

"สงบๆๆ" ....สงบไปเถอะ สงบแล้วได้อะไร ไปไม่ถูกหรอก สงบแล้วจะไปไหนต่อ...ไปต่อไม่เป็น

"ดูจิตๆๆ" ...ดูไปทำไม ดูแล้วได้อะไร มันจะไปถึงไหน ...ไม่รู้น่ะ อาจารย์สั่งว่าดี เดี๋ยวก็ดีเอง อย่าถามมาก 

นี่มันจะกลายเป็นตาบอดคลำช้างไหม ...แต่ถ้ามาถามเรา...อ่ะ ถามมาสิ ดูกายไปทำไม จะตอบให้ฟัง ...ถามเด่ะ ถามดิ ...ทำไมไม่ถามอ่ะ หรือไม่กล้าถาม (หัวเราะกัน)


...............................




วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/20


พระอาจารย์
16/20 (570926B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
26 กันยายน 2557


พระอาจารย์ –  อย่าไปภาวนาเกินจริง อย่าไปหาอะไรที่มันเกินปัจจุบัน อย่าไปทำอะไรที่มันไม่มีให้มันมีขึ้นมาใหม่...ด้วยความโลภแห่งธรรม ไม่สันโดษแห่งธรรม ไม่เพียงพอต่อธรรมที่มีอยู่แค่ในปัจจุบัน

ปัจจุปันนัญ จะ โยธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ  พระพุทธเจ้าท่านว่าปัจจุบันธรรม  ตัตถะ ตัตถะ...ที่นี้ๆ ...วิปัสสติ ทำที่นี้ให้แจ้ง

ท่านไม่ได้ให้ไปทำที่นั้น ท่านไม่ได้ให้ไปแจ้งที่โน้น ท่านไม่ได้ให้ไปแจ้งที่ไหน ...ท่านบอกว่า ตัตถะ ตัตถะ...ที่นี้ๆ  วิปัสสติ...คือทำความแจ้งให้เกิด

นั่ง...รู้ว่านั่ง อยู่กับนั่ง...ที่นี้คือนั่ง ทำความแจ้งในที่ “นั่ง” ให้เกิด...ว่าไอ้ที่นั่งนี่เป็นใคร มีใครนั่ง อะไรเป็นนั่ง มันเป็นของใคร

ถ้ายังทำความแจ้งในที่ “นั่ง” นี้ไม่ได้ อย่าไปทำความแจ้งในที่อื่น ...เพราะในขณะนี้มันกำลังนั่ง

แต่ด้วยความละโมบโลภมากของจิต มันก็ไม่พอ มันจะไปแจ้งในทุกที่...ตรงนั้น ตรงนี้ ตรงโน้นบ้าง  อ้างอิงตำรา อ้างอิงความจำ คำพูดคนนั้นคนนี้มาบ้าง

ว่าจะต้องไปรู้ จะต้องไปแจ้ง จะต้องไปเข้าใจในบทนั้นในบาทนี้ ในเรื่องนั้น ในอารมณ์นู้น ในกิเลสตัวนั้น ในกิเลสตัวนี้ ...สุดท้ายก็ยังไม่รู้เลยว่าไอ้ที่นั่งนี่คืออะไร

เมื่อมันไม่เข้าใจว่าที่ “นั่ง” นี่ ตามความเป็นจริงมันคืออะไร ...มันก็จะเข้าใจตามประสาของมันเองว่า...ที่ “นั่ง” นี้เป็น "เรานั่ง" ...แล้วก็เชื่อกันหัวปักหัวปำว่า...เป็น "เรานั่ง"

ไม่ได้เกิดความแยบคายเลยว่า มันเป็น "เรานั่ง" ได้อย่างไร ตรงไหน ...และไอ้ที่ "เรานั่ง" จริงๆ คืออะไร แล้วไอ้ที่ "นั่ง" จริงๆ คืออะไร ...แล้วไอ้ที่ “นั่ง” จริงๆ กับ “เรานั่ง” นี่มัน ต่างกันอย่างไร

แล้วไอ้ที่ “นั่ง” จริงๆ กับไอ้ที่ “เรานั่ง” นี่ อันไหนจริงกว่ากัน  แล้วไอ้ที่ “นั่ง” จริงๆ กับ “เรานั่ง” อันไหนมันทุกข์มาก อันไหนมันทุกข์น้อยกว่ากัน …อย่างนี้...มันแจ้งรึยัง  

เพราะถ้าไม่แจ้งใน...ที่นี้ๆ นี่ มันจะไปแจ้งที่โน้น ที่ไหนก็ไม่ได้ ...ด้วยความปรารถนาที่ไม่มีคำว่าจบสิ้นแห่งจิตเรา มันทำให้เกิดความหลากหลายในธรรม

แล้วไอ้ความหลากหลายในธรรมนี่ ก็ไม่ใช่เรียกว่าปัญญาอะไรหรอก ...แต่ท่านเรียกว่าเป็นความสับสนในธรรม...ที่ไม่มีอยู่จริง

เพราะจิตนี่มันจะไปไหนล่ะ ...มันไม่ได้ไปอยู่ในปัจจุบันหรอก ...มันจะไปอยู่ในอดีต กับไปอยู่ในธรรมอนาคต ...ซึ่งธรรมในอดีตและธรรมในอนาคตนี่ มันเป็นธรรมที่ไม่มีอยู่จริง

มันเป็นเรื่องที่มันถูกเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาลอยๆ แทบจะหาคุณค่าความหมายในตัวมันไม่ได้เลย แทบจะหาความเป็นจริงอ้างอิงกับมันไม่ได้เลย

เพราะนั้นการฝึกการภาวนานี่...ถ้าไม่ดึงจิตไว้ให้อยู่กับปัจจุบันกาย ปัจจุบันนั่ง ปัจจุบันยืนเดินนั่งนอนนี่ ...จิตมันจะไม่มีวันรู้จักคำว่า “ที่นี้” ได้

จิตจะไม่มีวันรู้จักว่า “ที่นี้” คือที่ไหน  จิตจะไม่มีวันเห็นความสำคัญว่า “ที่นี้” สำคัญอย่างไร  จิตจะไม่มีวันเห็นเลยว่า “ที่นี้” เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นจริงขนาดไหน

อย่าไปภาวนาดูอดีต ดูอนาคต  อย่าไปภาวนาดูคนอื่น ...ให้ภาวนาดูอิริยาบถ ภาวนาดูกายปัจจุบัน

อาจจะไม่ตรงตามสำนักอื่น แต่ขอบอกว่ามันตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านบอก ท่านภาวนา ท่านสอนให้ภาวนาอยู่ในหลักของไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญา มรรคมีองค์แปด

ศีลอยู่ที่ไหน...อยู่ที่นี้ กายปกติกายปัจจุบัน ก้อนธาตุก้อนศีล ก้อนปกติธรรมดากายนี่ท่านเรียกว่าก้อนศีล  ยืนยังไง...ศีลก็อยู่ที่ยืน เดิน...ศีลก็อยู่ที่เดิน

มันไม่ได้ผิดแบบแผนที่พระพุทธเจ้าสอนศีลสมาธิปัญญาเลยน่ะ ...แต่กลับพากันไปเห็นดีเห็นงามในที่อื่น ที่มันนอกศีล เกินศีล เกินกายเกินใจ เกินกายเกินปัจจุบัน

เพราะนั้นอะไรที่มันเกินกายเกินศีลออกไปนี่ ล้วนแล้วแต่เกิดจากจิตปรุงแต่งขึ้นมา ...ซึ่งไอ้ตัวจิตที่มันปรุงแต่งเกินกายเกินศีลออกไปนี่ มันเหมือนกับการตัดต่อพันธุกรรม

มันทำให้เกิดอาการที่ว่าผิดลักษณะธรรมชาติธรรมดาของความเป็นจริงขึ้น ...คือเกินความเป็นจริงบ้าง ขาดจากความเป็นจริงไปบ้าง

มันไม่สมดุล ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นความพอดี ไม่เป็นความมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม ...แต่มันกลายเป็นครรลองของกิเลส

ทุกวันนี้พืชจีเอ็มโอบางประเทศเขาก็ไม่ยอมรับ ถึงแม้ว่ามันจะมีคุณสมบัติที่ดีขนาดไหน แต่มันผิดธรรมชาติ ...มันถูกตกแต่งขึ้นมาใหม่ด้วยวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง ด้วยเจตนาแห่งเรานั่นเอง 

แต่คนน่ะมักจะเอาตัวคุณสมบัติที่มันผิดธรรมชาตินี่ มาเป็นตัววัดคุณงามความดีของการภาวนา ว่าจิตดีอย่างนั้น จิตดีอย่างนี้ ...ขอให้มันดีจริงๆ เหอะ

แต่มันดีไม่จริงน่ะ ...อย่างที่บอกกันมาว่า...ดีใดไม่มีโทษ ท่านเรียกว่าดีเลิศ ...ถ้าดีใดยังมีโทษอยู่ ท่านเรียกว่าดีไม่จริง และไม่สามารถจะรักษาจิตดีนั้นให้เที่ยงได้

แล้วที่ว่าดีจริงนี่ จิตดีจริงนี่ มันดีอยู่ตรงไหน ....ดีจริงอยู่ที่ไม่คิดนึกปรุงแต่ง ดีจริงอยู่ที่จิตรู้ จิตเห็น จิตเป็นกลาง ...ตรงนี้น่ะดีไม่มีโทษ

ไม่มีทุกข์ไม่มีโทษ ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ไม่มีเราไม่มีเขา ไม่มีอดีตไม่มีอนาคต ไม่มีสั้นไม่มียาว ไม่มีสูงไม่มีต่ำ ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่มีมากไม่มีน้อย ไม่มีนอกไม่มีใน

นี่ถ้าจิตดีมันต้องอย่างนี้ ถึงจะเป็นดีที่ไม่เป็นโทษ ...เพราะนั้น จิตมันจะดีได้จริง ดีที่ไม่เป็นโทษจริงนี่ จะต้องดีด้วยศีลสมาธิปัญญา

ไม่ใช่ดีด้วยการไปทำขึ้นมาโดยเรา ด้วยความอยากแห่งเรา ด้วยความปรารถนาแห่งเรา ด้วยเป้าประสงค์แห่งเรา

จิตมันจะต้องดีด้วยศีล อยู่ในศีลอยู่ในธรรม อยู่กับศีลอยู่กับธรรม ...และจะต้องเป็นศีลปัจจุบัน จะต้องเป็นธรรมปัจจุบันเท่านั้น จึงจะเรียกว่าจิตจึงจะดี

เพราะจิตดวงนั้น ถึงจะเป็นดีเบื้องต้น ก็จะเป็นดีที่ประกอบด้วยปัญญา คือรู้เห็นกับความเป็นจริงตลอดเวลา ไม่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ...นี่เรียกว่าจิตที่กอปรด้วยปัญญา

ไม่ใช่ไปนั่งนึก นั่งค้น นั่งหา คิดนึก ปรุงแต่ง วิเคราะห์ วิจารณ์ ...แล้วไปคลุกเคล้า ไปหมกมุ่น ไปค้นคว้าอยู่บนความไม่จริง

เพราะนั้น หยุดสร้างสภาวะใดสภาวะหนึ่งขึ้นมาในจิต หยุดอยู่กับกาย หยุดอยู่กับรู้ ...มันจะไปหาอะไร มันจะไปสร้างอะไร มันจะไปคิดอะไร มันจะไปเอาอะไร...ไม่เอา

ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา  ถูกก็ไม่เอา ผิดก็ไม่เอา  อดีตก็ไม่เอา อนาคตก็ไม่เอา ...เอาแต่นั่ง เอาแต่รู้ว่านั่ง ในขณะที่มันนั่ง ...เอาแต่ยืน เอาแต่รู้ว่ายืน ในขณะที่มันยืน

ถ้ามันเพียรเพ่งพยายามรักษากายรักษาจิตให้มันเสมอกันอยู่อย่างนี้ ให้มันพอดีกันอยู่อย่างนี้ ให้มันสมดุลระหว่างกายกับจิตอยู่อย่างนี้ตลอดเวลานี่ ...ไม่ต้องถามหามรรคผลนิพพานเลย

แต่ถ้าตราบใดยังปล่อยจิตให้ร่อนเร่พเนจร สร้างนู่นคิดนี่ ก็ไปอยู่ในฟากที่เรียกว่าฟากฝั่งฝัน

แต่ถ้าผู้ใดอยู่ในกาย อยู่กับรู้...ว่านั่งรู้ว่านั่ง ยืนรู้ว่ายืน เดินรู้ว่าเดิน ...นี่คือผู้นี้กำลังเพียรจะว่ายมาสู่ฝากฝั่งแห่งความเป็นจริง

เพราะที่ผ่านมา...ตั้งแต่เกิดมาจนถึงมานั่งตรงนี้ในปัจจุบันนี่ ...มันไปอยู่ในฝากฝั่งฝันเสียมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์แล้วมาโดยตลอดเลย

แล้วถ้ายังไม่เพียรพยายามแหวกว่ายที่จะมาสู่ฝากฝั่งแห่งความเป็นจริงนี่ ...ในอายุขัยที่เหลืออยู่ก็จะเป็นอย่างนี้อีก 99 เปอร์เซ็นต์น่ะแหละ

หรือว่ามาฟังแล้ว รู้แล้วว่า...อย่างนั้นคือฝากฝั่งฝัน อย่างนี้นี่คือความฝั่งความเป็นจริง...แต่กูไม่ทำ ...อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ เราบอกแล้วว่า ฝั่งนี้ฝัน...อย่าไป ...ฝั่งนี้จริง...ให้มา ให้อยู่ 

พระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์สาวกก็ได้แต่บอกว่า...เราเป็นแต่เพียงผู้สั่งสอน ผู้ชี้แนะ ผู้บอกทาง ...แต่เอ็ง มึง คุณ ท่าน...ทำเอง ...ต้องทำเอาเอง

เหมือนพวกเรานี่กำลังลอยคออยู่ในมหาสมุทรที่ไม่เห็นฝั่ง แล้วไม่รู้ว่าทางไหนไปฝั่งคือแผ่นดิน ...นี่ท่านเรียกว่าอยู่ในสภาพที่ลอยคออยู่ในโอฆะสงสาร

เคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร ที่มีทั้งฉลาม ปักเป้า ปลาซิว คอยกัด คอยตอด คอยดึง คอยแทะ ...ข้างบนก็ยังมีเหยี่ยว อินทรี คอยจิก คอยโฉบ

แล้วก็ยังมีอีกหลายพันล้านคนลอยคอเป็นเพื่อนกัน คอยชกต่อยกันอยู่ในทะเล แล้วก็เฮไปเฮมาตามคลื่นลม มันจะพัดไปขึ้นตรงไหนก็ไม่รู้...แล้วก็ฝันว่าสักวันจะขึ้นฝั่งเอง

ไม่มีทางหรอก ...มหาสมุทรนี้สุดล้ำลึก โอฆะสงสารนี้ไม่มีขอบเขต แทบจะไม่มีประมาณเลย  เรียกว่ามองไม่เห็นฝั่ง ไม่มีสิทธิมองเห็นฝั่งเลย...ด้วยอำนาจแห่งกิเลสบดบังนี่

จนให้ได้มีปรากฏขึ้นซึ่งพระพุทธเจ้าท่านมาตรัส แล้วก็มีธรรมทายาทสืบเนื่องมาเป็นพระสงฆ์ วางหลักธรรมไว้ มาเป็นเข็มทิศ แล้วก็มาชี้ว่าทิศนี้ๆ

ถ้าหลับหูหลับตาว่าย ลืมหูลืมตาว่าย เอาตีนว่าย เอามือว่าย เอาหัวว่าย...ตรงไปนี่ เจอฝั่ง ขึ้นฝั่งได้แน่ ...ก็เชื่อบ้าง เชื่อซะหน่อย แกล้งเชื่อด้วย ไม่เชื่อก็ต้องแกล้งเชื่อ

เพราะไอ้ทุกคนที่ว่ายน่ะ มันก็ว่ายไปด้วยความที่ไม่เห็นฝั่งทั้งนั้นแหละ แม้แต่ตัวเราเองผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่ามันเห็นฝั่งแล้วถึงว่ายนะ ...ก็ว่ายทั้งที่ไม่เห็นฝั่งน่ะ

แต่เรามีศรัทธาเชื่อในคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์หรือหลวงปู่ ผู้มีจริยาวัตรเหมือนพระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่าพุทธาจาโร ฉายาท่าน มีจริยาวัตรเสมือนพุทธะ ...ก็เลยเชื่อ

ก็หลับหูหลับตาว่ายเหมือนกัน...แต่ว่ามีทิศทางชัดเจน ทั้งๆ ที่ว่าไอ้คนที่ลอยคอด้วยกันมันก็ต่างคนต่างว่าย แต่ต่างคนต่างว่ายกันไปคนละทิศคนละทาง

แต่ทิศทางแห่งฝั่ง มีทิศทางเดียว ดั่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่า...เอกายนมรรค หรือว่าทางสายเอก คือศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน

จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ขอให้ทำไปเหอะ ทำไปก่อน แกล้งๆ ทำไปก่อน ...แต่สำคัญว่ามันไม่เชื่อแล้วมันไม่ทำ หรือสำคัญว่ามันเชื่อแล้วขี้เกียจทำนี่สิ ...ไอ้นี่ต่างหากคือปัญหาใหญ่

บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร วิริเยนะ ทุกขะ มัจเจติ ...ถ้ามันว่ายไปนี่ แล้วมันเห็นฝั่งลิบๆ ถึงจะลิบขนาดไหน แต่แค่เห็นลิบๆ นี่ ถามว่ากำลังใจมันมีไหม ...มี ยิ่งกว่ามีอีก

เพราะนั้น ผู้ที่เห็นฝั่ง ยังไม่ขึ้นฝั่งนี่  ท่านก็จัดว่าเป็นพระอริยะขั้นต้นแล้ว ...แต่ไอ้ผู้ที่ไม่เห็นฝั่ง แต่ว่าไปในทิศทางที่ฝั่งนั้นตั้งอยู่นี่ ท่านก็เรียกว่าเป็นผู้ที่ปรารภอยู่ในความเพียรอย่างยิ่งยวด

ไหนจะต้องต่อสู้กับกระแสน้ำที่มันพัด ไหนจะเพื่อนที่ลอยคออยู่ในมหาสมุทร มันไซโคอยู่ข้างหูตลอดน่ะ...ฝั่งหนึ่งอยู่ฝั่งโลก อีกฝั่งหนึ่งอยู่ฝั่งธรรม

มันไซโคทั้งทางโลกและทางธรรมนั่นแหละ …ก็เลยเป็นว่า...กูจะตั้งใจว่ายไปทิศนั้น ตรงไป ...ไม่ฟังเสียงนกเสียงกาก็ไม่ได้

มันก็เอื้ออนาทร สงเคราะห์ เมตตา “กลัวจะผิดทาง กลัวจะช้า ไปด้วยกันเถอะเรา” มันก็พยายามหาชุดลิเกมา...“ใส่ซะๆ จะได้เหมือนๆ กัน จะได้บรรลุธรรมแบบเดียวกัน”


(ต่อแทร็ก 16/21)




วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/19 (2)


พระอาจารย์
16/19 (570926A)
26 กันยายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 16/19  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อจิตมันรักษาด้วยการระลึกรู้อยู่จำเพาะกายขึ้นมาด้วยความต่อเนื่อง มันก็จะเกิดสมาธิที่เรียกว่าจำเพาะใจขึ้นมา คือจิตที่มันตั้งมั่นเป็นหนึ่งเป็นกลางนั่นเอง...ท่านเรียกว่าสมาธิ

เมื่อมันตั้งมั่นก็รักษาสองสิ่งไว้คือศีล-สมาธิ ประคับประคอง ทรงไว้...ด้วยความต่อเนื่อง ...ปัญญามันก็อยู่ในศีลสมาธินั่นเอง การรู้การเห็นตามความเป็นจริงก็อยู่กับศีลสมาธินั่นเอง

มันไม่ได้ไปอยู่ที่อื่น มันไม่ได้ไปทำอย่างอื่นเพิ่มเติมอะไรขึ้นมาเลย...ศีลอย่างไร สมาธิอย่างนั้น  ศีล-สมาธิอย่างไร ปัญญาก็อย่างนั้น ...มันเป็นของที่มันอยู่ที่ที่เดียวกันนั่นเอง

แต่ถ้าเมื่อใดที่ปล่อยให้จิตคิดนึกวกวน ตัวความคิดนึกปรุงแต่งนั่นน่ะ มันจะเป็นตัวที่มันต่อต้านขัดขวางศีลสมาธิปัญญา มันจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดความเบี่ยงเบนในการระลึกรู้จำเพาะกายจำเพาะใจ

มันคอยชี้ช่อง มันคอยหาช่อง ด้วยวิธีการต่างๆ นานา...ทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม...ที่มันจะออกนอกเหนือกายใจอยู่ตลอดเวลา...โดยเป็นอนุสัยสันดาน

โดยลำพังของจิตน่ะ มันไม่เคยหยุดอยู่ด้วยตัวมันเองเลย ...ถ้ายังเห็นพ้องต้องกันกับมัน หรือยังมีเจตนาอยู่ในมัน หรือยังปล่อยปละละเลยให้มันเป็นไปตามความเคยชินแห่งจิตคิดนึกปรุงแต่ง 

ไม่มีทางเลยที่มันจะกลับเข้ามาสู่เส้นทางที่เรียกว่าเป็นทางสายเอก หรือว่าทางเดียว หรือว่าเป็นทางรอดทางเดียวที่มันจะรอดพ้นออกจากขันธ์ ออกจากโลก ออกจากการหมุนเวียนในการเกิดการตายกับขันธ์

เพราะนั้นถ้าผู้ปฏิบัตินี่ แน่วแน่ลงไปในศีลสมาธิปัญญาอย่างนี้ ไม่ไปลังเลสงสัยในวิธีการ ไม่ไปลังเลสงสัยในธรรมนั้นโน้นนี้ ...มันจึงไม่มีคำว่าเกิดการเนิ่นช้าในการปฏิบัติ

เพราะถือว่าผู้นั้นน่ะเป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อศีลสมาธิปัญญาถ่ายเดียว ศีลสมาธิปัญญาหน้าเดียว ไม่เป็นลักษณะศีลสมาธิปัญญาแบบหน้าไหว้หลังหลอก สับสนอลหม่าน 

ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวเช้าอย่าง สายอย่าง  กลางวันอย่าง พรุ่งนี้อีกอย่าง มะรืนอีกอย่าง ที่กลายเป็นภาวนาแบบจับจด วกวน ด้วยความไม่เท่าทันการปรุงแต่งของจิต

แล้วปล่อยให้จิตมันปรุงแต่งค้นหาวิธีการ ค้นหาธรรมนั้นนี้โน้น อ้างอิงธรรมโน้นนี้นั้น...ว่าดีกว่า ว่าเร็วกว่า ว่าใช่กว่า ว่าถูกกว่า ว่ามันคอยสนับสนุนศีลสมาธิปัญญากว่า

จิตมันหลอก...หลอกให้ไปวกวนค้นหา ในที่ที่ไม่ควรไปค้นหา ...แล้วจิตมันมาจากไหน ...ชื่อก็บอกแล้ว อวิชชา ปัจจยา สังขารา แปลว่ามันมาจากความไม่รู้ มันมาจากกิเลสความไม่รู้ 

สังขารา ปัจจยา วิญญาณ ... วิญญาณ ปัจจยา นามรูป...นามรูปนี่คือขันธ์ห้า ...มันก็มาหลงสร้างขันธ์ห้า ในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบันขึ้นมา...เป็นที่หมาย เป็นที่มั่น เป็นภพ เป็นชาติไปหมด

ว่ามันน่าจะอย่างนั้น ไม่น่าจะอย่างนี้  ควรจะอย่างนั้น ควรจะอย่างนี้  ควรจะเห็นธรรมนั้น ควรจะรู้ธรรมนี้ ...มันเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมาทั้งนั้น

และตราบใดที่ยังปล่อยปละละเลย ให้กระทำไปตามความคิดความปรุงนี่ ...มันก็ยิ่งห่างไกลจากศีลสมาธิปัญญามากขึ้นๆ เท่านั้น

เส้นทางที่มันควรจะลัดสั้นและตรงนี่ ...มันก็ยืดยาว...ไปไกล ไปนาน...ในที่ที่ไม่ควร ในทางที่ไม่ควร 

ทางที่ไม่ควรนี่...พระพุทธเจ้าท่านถึงเรียกว่าทางหายนะ คือเป็นทางแห่งความก่อเกิด เป็นทางที่มีแต่เกิดตายๆๆ เกิดดับไม่จบไม่สิ้น  ท่านเรียกว่าเป็นทางหายนะ ไม่ใช่หนทางอันประเสริฐ

ถ้าพูดว่าหนทางอันประเสริฐ หนทางที่ชอบ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า...มีหนทางเดียวคือมรรค คือศีลสมาธิปัญญา...ที่บอกว่ามีทางเดียวเท่านั้นเอง

เพราะนั้น ขอให้พวกเรานี่ตั้งใจในศีลสมาธิปัญญา ในวิธีการ ในหลักการ ที่มาคร่ำเคร่ง เพียรเพ่ง จดจ่ออยู่กับจำเพาะตัวจำเพาะกายนี้...เรียกว่าทำความรู้ตัว

เนี่ย พวกเราที่ฟังธรรมมาหลากหลายครูบาอาจารย์ อย่าไปมัวสับสนในวิธีการ ...ต้องยึดถือตามธรรมเนียมพระพุทธเจ้า ท่านวางหลักไว้...ศีลสมาธิปัญญา จะต้องถือศีลสมาธิปัญญานี่เป็นแม่แบบ

เหมือนศีลสมาธิปัญญานี่ เป็นธรรมนูญหลักที่ปกครองธรรม ที่ปกครองมรรคโดยรวมเลย ...ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามรรคนี่ จะไม่เกิดความคลาดเคลื่อนเป็นอื่นเลย

แต่ถ้าเอาตามอาจารย์แต่ละท่านแต่ละสำนักนี่ มันก็แตกต่างกันไปตามจริตนิสัยของท่านทำ บางท่านบางองค์อาจจะไม่ได้อ้างอิงถึงศีลสมาธิปัญญาโดยตรงเลยก็ได้

ถ้าไม่เข้าใจหลัก มันยิ่งไปทำให้เกิดความเสียเวลาเนิ่นช้าในการปฏิบัติ แล้วมันยังไปสร้างการภาวนาที่จะเป็นการก่อเกิดแห่งสภาวะอารมณ์ สภาวะจิต

จากลำพังปุถุชนคนที่ไม่ได้ภาวนานี่ สภาวะอารมณ์ สภาวะจิต มันก็มีในระดับหนึ่ง ...เป็นอารมณ์ตามกิเลสในโลกๆ ที่มันเป็นพื้นฐานของปุถุชน

แล้วยิ่งมาเริ่มปฏิบัติโดยที่ไม่ได้อยู่ในหลักของศีลสมาธิปัญญา แต่ว่าไปปฏิบัติเพื่อให้ได้อย่างนี้ เพื่อให้เป็นอย่างนี้ขึ้นมา ...มันทำให้เกิดสภาวะจิตหลากหลายที่แปลกใหม่ขึ้นมาอีกเยอะแยะ

แล้วยังไปเข้าใจหมายมั่นว่านั้นเป็นธรรม นี้เป็นธรรม...ที่ดี ที่ใช่ ที่ตรงกว่ามรรคขึ้นมา...แบบเลื่อนๆ ลอยๆ 

เหล่านี้ คือความเนิ่นช้าหมดเลย ...เพราะว่าไม่ได้ถือหลักของศีลสมาธิปัญญาโดยตรงเป็นกรอบ 

เพราะศีลสมาธิปัญญาโดยแท้ โดยตรงนี่ ...มันจะเป็นแม่บทที่ล้อมกรอบจิต เพื่อไม่ให้จิตมันออกนอก หรือจิตไปสร้างอะไรขึ้นมาใหม่อีก

ไอ้ที่มันเคยสร้าง ไอ้ที่มันสร้างอยู่แล้วนี่ ...มันก็พอแรงอยู่แล้วด้วยอำนาจแห่งกิเลสปรุงแต่ง 

แล้วยังไปเจตนาประกอบกระทำในจิต ให้มันเกิดเป็นลักษณะสภาวะอาการ...ที่ดูเหมือนดี ดูเหมือนใช่ขึ้นมา ดูเหมือนเหนือกว่า วิเศษกว่าสภาวะจิตคนธรรมดาทั่วไปอีก

แทนที่มันจะมีแต่สภาวะกิเลสของปุถุชนธรรมดา คนธรรมดาล้วนๆ ...มันกลับมีสภาวะที่ถูกสร้างขึ้นด้วยจิตอันซับซ้อน น่าใคร่ น่าถือครองยิ่งกว่าความปรุงแต่งทางโลกๆ

เพราะนั้น ถ้ามันเป็นลักษณะนี้...เราจะบอกว่าไม่ภาวนาซะดีกว่ามั้ย ...แค่ไอ้ของเก่าของเดิมนี่ก็จะตายอยู่แล้ว ที่มันทับถมจนจะตายอยู่แล้ว

ยังมานั่งหลับหูหลับตาค้นหาอาการ อารมณ์บ้าบอคอแตก...อย่างที่ตำราเขาบอก อย่างที่อาจารย์เขาสั่ง ...นี่ทำกันจนข้ามภพข้ามชาติ...มันยังไม่ได้ตามที่ปรารถนาเลย

เพราะสภาวะจิตนี่ มันมีแต่ความซับซ้อน ...ยิ่งทำยิ่งยาก ยิ่งได้สภาวะใหม่ๆ แปลกๆ ล้ำลึกๆๆ ...แล้วก็ตีความเป็นธรรมแห่งเราได้หมดเลย

ผู้ปฏิบัตินั้นก็เข้าไปกลืนกิน ถือครอง เป็นสมบัติ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นของหวงแหน อย่างนี้...มันจึงติดสภาวะที่ดูดีกว่าคนอื่นกันไงล่ะ

เราถึงบอกว่านักภาวนานี่ ถ้าไม่เข้าใจในศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริงนี่ จะเหมือนกับแต่งลิเกเดินกลางถนน ...มีแต่คิดบ้าง มีแต่เคล็ดน่ะ เหมือนมีแต่แก้ว ระยิบระยับแพรวพราวไปหมด

แต่มันเหมือนกับแต่งลิเกเดินกลางตลาด ...พอบอกให้ถอดทิ้ง บอกให้เลิก มันก็ไม่ยอม ...ดีไม่ดีมันมาว่าเราอีกว่า...อยู่ดีๆ มาให้ทิ้งของดีได้ยังไง

ลองนึกภาพดูว่าลิเกน่ะ...แต่งชุดลิเกไปเดินซื้อข้าวของในพารากอน ...แล้วดูคนรอบข้างเขาจะมองด้วยความสรรเสริญไหม หรือมองเหมือนไอ้บ้า อีบ้า

แต่ตัวมันเองจะเป็นแบบ...ใครจะมองด้วยสายตายังไง มันก็เชิด ตามันไม่มองดิน มันมองไปถึงนิพพาน มันเลยมองไม่เห็นคน แล้วก็ยังมาสั่งกันทุกคนให้มองหาธรรมกันเข้าไป แบกธรรมกันเข้าไป

นี่ ตัวมันเองแบกยังไม่พอ ยังไปสอนให้คนอื่นแบกด้วย ช่วยกันแบก ช่วยกันหามธรรมไปนิพพาน ...ก็มันไม่รู้ตัวน่ะว่าแบกอยู่ มันจะไปไหนได้

เหมือนไอ้บ้าหอบหิน ไอ้บ้าหอบฟางน่ะ ...พอเราบอกว่ามันคือหิน มันหนักนะ ...มันก็เถียงแล้วเถียงอีกว่าเขาทำอย่างนี้ได้มรรคผลกันมาแล้ว ...นี่ มันเป็นซะอย่างนี้

พระอริยะตั้งแต่สมัยกรุงศรีฯ ท่านยังบอกเลย ท่านพยากรณ์ไว้...ต่อไปนี่ คนผู้ปฏิบัติในสมัยนี้ ท่านเปรียบว่า...กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย แต่น้ำเต้าน้อยนี่จะถอยจม

ทั้งๆ ที่กระเบื้องนี่มันควรจะจม แต่มันกลับลอย  น้ำเต้าที่มันควรจะลอย มันกลับจม การปฏิบัติธรรมนี่...ในสมัยนี้ มันกลับตาลปัตรกัน

การประกาศธรรม การอวดอ้างธรรม การแอบอ้างธรรม การประกาศสรรพคุณธรรมของตัวเจ้าของเอง มันเยอะแยะไปหมด ...เหมือนกระเบื้องที่มันกำลังเฟื่องฟูลอย

แต่ผู้ที่รู้ธรรมเห็นธรรมที่แท้จริง กลับลดถอยลง ไปหลบตามซอกถ้ำซอกป่า ขึ้นคัทเอาท์ไม่ได้ ไม่มีคนฟัง ...เพราะมันฟังไม่เข้าใจ แล้วก็ยังมาหาว่าเอาอะไรมาพูดอีกด้วยนะ 


(ต่อแทร็ก 16/20)