วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 16/36 (2)


พระอาจารย์
16/36 (571024D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 ตุลาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 16/36  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ถ้าตลอดวันตลอดเวลา ก้มหน้างุดๆๆๆ อยู่ในก้อนกองกายนี้ ...ภาวนาอย่าท้อถอย นั่นแหละเป็นเคล็ดลับ เป็นทางลัดและก็เป็นทางตรง 

ถามว่าภาวนาจะเร็วที่สุด...คือภาวนาไม่ท้อถอย ไม่มีอะไรลัดกว่านี้แล้ว ...อย่าหาวิธีอื่น ไปหกคะเมนตีลังกาหาวิธี ด้วยวิธีการบ้าบอคอแตก...ไม่มีเร็วกว่านี้แล้ว

คือการภาวนาไม่ท้อถอย ภาวนาแบบไม่หยุดหย่อน จึงจะเอาชนะกิเลสได้บ้าง ให้เห็นกันจะจะ นี่

เวลามันเห็นการละการวางกิเลส หรือการละการวางอารมณ์ หรือการถอดถอนอารมณ์ ออกจากอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างชัดเจนจะจะนี่...มันเกิดกำลังใจ

เห็นปุ๊บ..ร่วง วาบหายไป อย่างนี้ ...ซึ่งมันไม่ได้เห็นทุกครั้งทุกคราวไปหรอกนะ แต่แค่นี้มันก็เกิดกำลังแล้ว ใส่คะแนนให้ตัวเองได้บ้างว่ากูมาถูกทางแล้ว

แต่อย่ามัวนั่งรอนั่งคอย หรือว่าอิ่มเอิบซาบซ่านกับผลนั้นๆ ...ก็กลับมาเหมือนเดิมแบบเดิม นั่งรู้ยืนรู้ เดินรู้ อยู่กับตัว ตรวจสอบความเป็นอากัปกริยา บนกลางท้ายหลังของตัวเอง

มันเป็นอย่างไร มันรู้สึกอย่างไร วนไปเวียนมา วนซ้ายวนขวา วนหน้าวนหลัง วนอยู่ในนี้ ...เผลอบ้างลืมบ้าง เอาใหม่ ไม่ไปเนิ่นช้า รอคอย ...รู้เห็นไป ต่อเนื่องไป สม่ำเสมอไป บ่อยๆ ไป

จิตมันก็จะได้รับการอบรมให้อยู่ในกรอบแห่งศีล ในกรอบแห่งปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความรู้ในธรรมขึ้นมาตามลำดับลำดา ...ไม่มีใครช่วยได้เลย นอกจากตัวเอง อัตตาหิ อัตโน นาโถ

ถ้าพากเพียรอยู่ภายในอย่างนี้ ความหมายมั่นจริงจังในโลกภายนอก ในบุคคลภายนอก จะน้อยลงไปเองให้เห็นน่ะ ...ไม่ค่อยเอาธุระ ไม่ค่อยเอาเรื่องเอาราวกับอะไร สิ่งใด และในแง่มุมใด

มันก็ชัดเจนในตัวเราของเรามากขึ้นเองน่ะ ว่าอะไรเป็นตัวเรา อะไรไม่ใช่ตัวเรา หรืออะไรไม่มีตัวเราเลย หรือหาตัวเราไม่ได้เลยในที่ใดที่หนึ่ง ...ก็ชัดเจนไปเองน่ะ

มีแต่เจอตรงไหนก็เจอแต่กายธาตุกายขันธ์ กายธาตุกายธรรมล้วนๆ หยั่งตรงไหนก็เจอแต่เวทนาธาตุเวทนาธรรมล้วน ไม่เห็นมีตรงไหนเป็นกายเรา เป็นเวทนาเราเลย แม้แต่น้อยนิดหนึ่ง

ดูแล้วดูอีก เห็นแล้วเห็นอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนี้ มันก็คลี่คลายจากความเป็นเราไป...ด้วยการรู้เห็นตามความเป็นจริงของกายมากขึ้นไปตามลำดับเท่านั้น

เพราะนั้นการภาวนานี่ มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ออกนอกเหนือกายใจปัจจุบันเลย ...ถ้าออกนอกปัจจุบันกายนี้เมื่อไหร่ ออกนอกใจรู้เห็นนี้เมื่อไหร่  เมื่อนั้นจะเกิดการเข้าไปหมุนวนในขันธ์ทั้งห้า

มันจะเกิดการเข้าไปปรุงแต่งขันธ์ทั้งห้าขึ้นมารองรับความเป็นเรา แล้วมันจะเกิดการเข้าไปจริงจังในขันธ์ทั้งห้า ว่าเป็นเราของเราอย่างยิ่ง ...นี่ก็เรียกว่าถูกกิเลสหลอกเต็มตัวเต็มใจเลย

ว่ามีขันธ์ห้า ว่าเป็นขันธ์ห้าของเรา ทั้งไกลทั้งใกล้ ทั้งดีทั้งเลว ว่าเป็นขันธ์ห้าของคนนั้นของคนนี้ ว่าขันธ์ห้าคนนั้นคนนี้ดีเลวกว่ากัน ...จริงจังหมดเลย

แต่เมื่อใดยืนหยัดตั้งมั่นอยู่บนกายใจ ตั้งมั่นอยู่บนฐานกายฐานใจ ฐานศีลสมาธินี้ ไม่มีจิตไปสร้างขันธ์ห้า ไม่มีการก่อเกิดขันธ์ห้าขึ้นมา บนกายบนใจ

ตรงที่กายใจปรากฏ อยู่ที่กายใจปรากฏ จึงเป็นจุดที่เรียกว่าปราศจากขันธ์ห้า ละวางขันธ์ห้า ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า...ว่านี้เป็นเราของเรา

จนมันเห็นไปเองว่า ขันธ์ห้านี้เป็นทุกข์  มีขันธ์ห้าขึ้นมาเมื่อไหร่..เป็นทุกข์ ดำรงคงอยู่ในขันธ์ห้าเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์ ...มีขันธ์ห้ามากขึ้น หลายเรื่องขึ้น หลายคนขึ้น หลายอนาคตกาล ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

จิตที่มีปัญญารู้เห็นเช่นนั้น จึงยินยอมพร้อมใจในการที่จะละวางขันธ์ห้าโดยไม่ต้องบังคับ จึงยินยอมพร้อมใจที่จะดำรงคงอยู่เพียงแค่ศีลสมาธิปัญญาถ่ายเดียว คือกายใจ

แล้วจะอยู่ด้วยการเฝ้าระมัดระวัง ไม่ให้จิตผู้ไม่รู้หรืออวิชชานี่ มันสร้างขันธ์ห้าขึ้นมาครอบงำปิดบังกายใจอีกต่อไป ...จนกว่าจะเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

ว่าขันธ์ห้าคืออะไร มาจากไหน  กายใจคืออะไร มาจากไหน ...สมควรละ สมควรเลิก สมควรรู้ อย่างไรกับอะไร อย่างชัดเจนชัดแจ้ง...ว่าขันธ์ห้านี่ต้องละ ว่ากายใจนี่ต้องรู้ไว้

ไม่ต้องให้ใครมาพร่ำบ่นบอกสอนเลย มันประจักษ์แจ้งแก่ผู้ปฏิบัติเอง มีขันธ์ห้าเมื่อไหร่เป็นทุกข์ของเราทันที ทั้งทุกข์ในอดีต ทั้งทุกข์ในปัจจุบัน ทั้งทุกข์ในอนาคต

แม้แต่เรานั่งอยู่ในปัจจุบัน ก็มีขันธ์ห้าแอบคลุมปัจจุบันกายใจ จึงมีทุกข์ในระหว่างนั่งของเรา ...แต่เมื่อใดเพิกถอนขันธ์ห้าออก เจือจางขันธ์ห้าออกได้บ้าง ก็จะเห็นปัจจุบันกายใจที่ไม่เป็นทุกข์แก่เรา ของเรา

ไม่ใช่การปฏิบัติไปสอนให้ขุดค้นอยู่บนฐานที่ไม่มีความเป็นจริงอยู่ในนั้นเลย ...ท่านให้ขุดค้นอยู่ในฐานที่ตั้งแห่งความเป็นจริง ค้นคว้าอยู่บนความเป็นจริง

จำแนกแยกธาตุ แยกขันธ์ตามความเป็นจริง ...ธาตุส่วนธาตุ ขันธ์ส่วนขันธ์  ไม่ปะปน ไม่ปนเปื้อนกัน  ไม่สับสนในธาตุในขันธ์ว่าเป็นอันเดียวกัน

กายส่วนกาย รูปส่วนรูป ไม่ใช่อันเดียวกัน  เวทนาสัญญาสังขารก็เป็นขันธ์ ไม่ใช่กายใจ ...กายใจเป็นธาตุ มหาภูตรูปเป็นธาตุกาย ใจเป็นธาตุรู้ ธาตุส่วนธาตุ ขันธ์ส่วนขันธ์

แต่กิเลสที่ดื้อด้านและโง่เขลา มันกลับรวมธาตุรวมขันธ์เป็นอันเดียวกันว่าทั้งหมดนี้คือเราอย่างหน้าด้านๆ  แล้วก็จริงจังมั่นหมายในธาตุขันธ์นี้ว่าเป็นเราอย่างโง่เขลา

ไม่รู้จักค้นคว้าหาความเป็นจริงของกาย ของธาตุ ของขันธ์ ว่าความเป็นจริงของแต่ละอย่างมันเป็นอะไรกันแน่ ...เนี่ย ปัญญามันจะไปเกิดยังไง

 ความรู้แจ้งรู้จริง ทั้งในฝั่งโลกฝั่งขันธ์ ฝั่งกายฝั่งใจ ฝั่งศีลสมาธิปัญญา ฝั่งกิเลสความปรุงแต่ง ฝั่งความไม่ปรุงแต่ง ...ไม่เข้าใจอะไร ไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ทั้งโดยปัจจยาการความสืบเนื่อง ทั้งโดยความเป็นอิสรภาพแห่งธรรม ...นี่ ปัญญามันจะเกิดยังไง ก็ได้แต่ปัญญาคิดๆ นึกๆ เทียบเคียงคาดเดา ...ปัญญาเทียบเคียงคาดเดานี่แก้กิเลส ละกิเลสไม่ได้ ฆ่ากิเลสไม่ตาย

การปฏิบัติก็อยู่แค่นั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ กายทำอะไรรู้ แม้กระทั่งกายไม่ได้ทำอะไรก็ต้องรู้ ไม่ปล่อยเลย ไม่ปล่อยมือออกจากกายนี้เลย สติจะต้องตามติดตามจับทุกฝีก้าว ทุกการก้าวเดินของความเป็นไปในกาย

ไม่ให้มีช่องว่าง ให้จิตเคลื่อนเลื่อนออกนอกกายนี้ได้ ไม่เปิดโอกาสให้โอกาสมันปรุงแต่งขันธ์ขึ้นมาล่อ หลอกลวง ว่านี้เป็นเราที่ดีกว่า ว่านี้เป็นเขาที่ร้ายกว่า ถูกกว่าผิดกว่า อะไรก็ตาม

ปิดประตูตีแมว...แมวคือกิเลส ไม่ให้มันอ้าปากวาดลวดลายมือเท้าออกมาเลย ...เครียดก็เครียดล่ะวะ เครียดเพราะการฆ่ากิเลส เครียดไป สบายเพราะใช้กิเลสตามกิเลส อย่าทำ

เพราะมันทำจนเคยตัวแล้ว ทำจนเห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แล้วก็ถือกงจักรมาไว้เหนือหัวว่าเป็นของเย็น เอาของร้อนมาทูนหัวไว้นี่ อาบกินแต่ของร้อนๆ เผ็ดๆ แสบๆ ...ความไม่รู้ทั้งนั้น

ภาวนาอยู่ในที่อันเดียว ผลมันจะปรากฏไปเองน่ะ ...อย่าเนิ่นช้า มัวแต่คิดมัวแต่สงสัย มัวแต่ไปหาความเป็นจริงตามบัญญัติตามภาษา ตีความว่าความกันไปมา

มานั่งอ่านเขียนเรียนกาย กายนั่ง กายนอน กายยืน กายเดิน ยังมีคุณค่าเสียมากกว่า ...ให้ค่าให้ความสำคัญกับการภาวนาบนเส้นทางนี้ มากกว่าจะไปหาความรู้จากการอ่านการฟัง 

หรือการถามจากผู้รู้..วงเล็บ..ไม่จริง ...ซึ่งเยอะมาก ไอ้ผู้รู้ที่ไม่จริงนี่ จะสร้างความสับสนในธรรม เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติที่ให้ตรงต่อธรรม...ต้องระวัง

รู้ไป นั่งนอนยืนเดิน จนกว่าจิตมันจะเงียบ ไม่หือไม่อือเลย เงียบ ว่าง...ว่างจากความคิดนึกปรุงแต่ง ว่างจากอารมณ์ ว่างจากอดีตอนาคต จิตว่างเงียบไปหมด 

เหลือแต่กายโด่ๆ ใจโด่ๆ เป็นเสาหลักอยู่อย่างนั้นน่ะ เผชิญหน้ากันอยู่ตลอดเวลา...คู่กัน ตีคู่กันกายใจ

นั่นแหละผู้ทรงศีลสมาธิปัญญา แล้วก็พยายามทรงศีลสมาธิปัญญาไว้ อย่างเข้มแข็ง แข็งแกร่ง ...เข้มงวดกวดขัน ไม่ให้ขาดตกบกพร่องไปเลย

ความรู้ในมรรคผลในนิพพาน ก็เกิดอยู่ท่ามกลางศีลสมาธิปัญญานั่นเอง ไม่ต้องไปค้นคว้าที่อื่นเลย

เอ้า เอาแล้ว ...ไปทำกัน ไปรู้ตัว ไปอยู่กับตัว ไปผูกจิตให้อยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้ ให้จิตมันตายอยู่ภายในนั่นแหละ


....................................




แทร็ก 16/36 (1)


พระอาจารย์
16/36 (571024D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 ตุลาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  บทมันจะมา มันก็มากันเยอะ ฟังธรรมน่ะ มันก็ฟังได้หมดทุกคนแหละ มากันเยอะ มันก็ทั่วถึง ...มันก็เป็นธรรมเดียวกัน ไม่ได้เจาะจงลงไป

ก็เป็นธรรมที่มันจะต้องอยู่ในแวดวงศีลสมาธิปัญญา สำหรับจิตที่มันยังลังเลสงสัยในศีล...ยังมีอีกเยอะ ที่มันยังลังเล แล้วมันยังไปเกาะแกะอยู่กับอย่างงั้น อย่างงี้ อย่างโง้นอยู่น่ะ

การอบรมศีลจึงต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าน่ะ จนกว่าจิตมันจะยอม มันจะลงให้ศีลผู้นั้นๆ ...ถ้าไม่ยอม ไม่ลงให้ศีลนี่ มันจะเข้าไปรู้ธรรมเห็นธรรมตามจริงไม่ได้เลย

มันจะไม่มีบรรทัดฐานเลย ว่าความเป็นจริงอยู่ที่ไหน มันจะหาบรรทัดฐานที่แท้จริงของธรรมไม่ได้เลย ...มันจะเป็นธรรมที่เลื่อนลอย จะเป็นธรรมที่รู้ไปเรื่อย หาไปเรื่อย แปลกใหม่ไปเรื่อย

แต่ถ้ามีกายนี่ เป็นตัวรองรับ มีศีลเป็นตัวรองรับธรรม รองรับการปฏิบัติในธรรมนี่ มันก็จะซ้ำซากๆๆ อยู่ตรงนี้ กายก็แสดงความเป็นจริงซ้ำซากๆ ไม่ได้เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเลย

มันก็เป็นแบบเดิมของมันอยู่ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรกับใครอยู่แล้ว เป็นธรรมที่มั่นคง เป็นธรรมที่ชัดเจน และเป็นธรรมที่แสดงความเป็นจริงอย่างยิ่งตลอดเวลา

แข็งก็แข็งเหมือนเดิม อ่อนก็อ่อนเหมือนเดิม ร้อนหนาวก็ร้อนหนาวเหมือนเดิม เป็นแท่งทึบก็เป็นแท่งทึบเหมือนเดิม ขยับเขยื้อนก็เป็นขยับเขยื้อนเหมือนเดิม

ไม่ว่าจะอยู่ในท่าทางอย่างไร มันก็จะมีอาการลักษณะที่มันเป็นเหมือนเดิมของมันอยู่อย่างนั้น ไม่อายฟ้าไม่อายดิน ไม่เกรงกลัวกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกิเลสตัวใดตัวหนึ่ง 

เขาแสดงธรรม เปิดเผยธรรมอย่างอาจหาญ เปิดเผย ยืนหยัด แสดงความเป็นจริงอย่างสง่า ไม่กลัวฟ้าดินอินทร์พรหมเลย

เพราะนั้นถ้าเอากายหรือเอาศีล ตัวกายปัจจุบัน เป็นบรรทัดฐานอยู่อย่างนี้  ความรู้เห็นในธรรม ความรู้จริงในธรรมก็บังเกิด ...ไม่ใช่เป็นธรรมแบบสะเปะสะปะเลอะเทอะ ที่มาจากที่ไหนก็ไม่รู้

ที่มาที่ไปของมันมายังไงก็ไม่รู้ แบบนั่งๆ หลับตาภาวนาบทใดบทหนึ่งขึ้นมา ดูนั่นดูนี่ไป อยู่ดีก็เกิดความรู้อันนั้นอันนี้โผล่ขึ้นมา ...มาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่มีต้นสาย ไม่มีต้นตอ แล้วก็หายไป

แล้วก็ไปจริงจังมั่นหมายว่าความรู้นั้นเป็นความรู้ที่แท้จริง เป็นความเห็นที่แท้จริงขึ้นมา เป็นปัญญาบ้าง เป็นสภาวะที่ดีบ้าง เป็นสภาวะที่บ่งบอกถึงการก้าวหน้าไปในธรรม เจริญธรรมบ้าง

การปฏิบัติธรรมแบบนี้ เหล่านี้ จึงกลายเป็นการปฏิบัติแบบข้าวคอยฝน ...จนกว่าฝนมันจะตก ข้าวมันจะได้งอกงามขึ้นมา

แต่ถ้าลงมือหว่านไถด้วยตัวเอง ข้าวก็งอกเติบใหญ่ ก็เห็นกระบวนการของมันตลอด ที่มาที่ไป การดำเนินการปรากฏ นั่น มันไม่สงสัยเลยในธรรม

ว่าธรรมมีอยู่จริงอย่างไร แสดงความเป็นจริงอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร เป็นกลางอย่างไร ดับไปอย่างไร ...มันมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจนเลย  ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้ง มากขึ้นก็รู้ว่ามากขึ้น น้อยลงก็รู้ว่าน้อยลง

กาย..มันมีที่แสดง..เป็นตัวแสดงความเป็นจริงแบบตลอดทุกเวลานาทีน่ะ ไม่ได้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว ...แข่งกับกิเลสที่มันปรุงแต่งโดยไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวเหมือนกัน

คือความปรุงแต่งในจิตนี่ คือเรื่องราวของกิเลสนั่นเอง มันก็ปรุงแต่งแบบไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว ...ในทางกลับกัน ศีลก็แสดงความเป็นจริง ความเป็นธรรม อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว...คู่กันอยู่อย่างนี้

เป็นธรรมคู่ใจ เป็นสัจจะความเป็นจริงคู่ใจ แต่พวกเราๆ ทั้งหลายนี่ กลับไม่เลือกธรรมคู่ใจนี้ไว้  กลับไปเลือกฝั่งฝันฝั่งกิเลสคิดนึกปรุงแต่ง อารมณ์น้อยใหญ่ ตลอดทั้งสภาวะอารมณ์สภาวะจิต

ไปไล่ล่าควานค้นอยู่ตรงนั้นในนั้น ไปดำผุดดำว่ายอยู่ในนั้น ไปเปียกปอนม่อล่อกม่อแลกอยู่ในนั้น โดยหมายหาธรรมใดธรรมหนึ่ง ที่ดี ที่ถูก ที่ใช่ จะปรากฏขึ้นมา

งาช้างไม่งอกออกมาจากปากหมาหรอก...ไม่มี ...ไม่มีความเป็นจริงใดๆ เลย ไม่จำเป็นต้องไปค้นหาความเป็นจริงใดๆ ในนั้น เพราะมันไม่มีความจริงใดๆ เลย ...นี่มันไม่รู้

แต่ว่าเค้าโครง บัญญัติ สมมุติ ความเห็น ความเชื่อ ความปฏิบัติเป็นเยี่ยงอย่าง รูปแบบปฏิบัติคนในโลก มันพาให้ไปสู่จุดนั้น แล้วมันดันได้ดิบได้ดีขึ้นมาอีก ...คำว่าได้ดิบได้ดีคือได้โลกามิส ได้อามิส 

ได้คำสรรเสริญเยินยอยกย่อง ได้ความนบนอบ นอบน้อม ...มันก็เลยยิ่งเชื่อ วิ่งตามหาธรรมในนั้นกันให้วุ่นให้คลั่ก แล้วก็หยิบยกธรรมเหล่านั้นมาตีความ ขยายความกันให้เอิกเกริก เป็นระดับพิสดารละเอียดลึกซึ้งกันไปมา

นั่นไม่มีอะไรจริง ...ไม่มีอะไรจริงกว่ากาย ไม่มีอะไรจริงกว่าศีล ไม่มีอะไรจริงกว่าปัจจุบันธรรม 

สตินี่ สัมมาสตินี่ เป็นตัวปกป้องศีลสมาธิปัญญา ไม่ให้จิตมันละเมิดล่วงเกินศีลสมาธิปัญญา หน้าบ้าง หลังบ้าง บนบ้าง ล่างบ้าง ไกลบ้าง ใกล้บ้าง

สัมมาสติ เป็นจิตดวงที่หวงแหนในศีลสมาธิปัญญา เป็นสติที่เข้ามาหวงแหนความเป็นธรรม ตรงต่อธรรม 

แล้วก็ยืนหยัดอยู่บนธรรม ที่เรียกว่าสัจธรรม ...ไม่ใช่ธรรมจอมปลอม ไม่ใช่ธรรมที่ปนเปื้อน ไม่ใช่ธรรมที่ผุดโผล่มาจากกิเลสความปรุงแต่งใด 

นี่ กว่าจะปรับทัศนคติในการปฏิบัติ ก็ต้องใช้เวลา จนเหนียงเราก็เริ่มยานไปแล้ว เนี่ย มันต้องใช้เวลา กว่ามันจะยอมฟัง ยอมเชื่อ...ว่าการปฏิบัติจริงน่ะอยู่ที่นี้ 

ที่ศีลนี้ตั้งอยู่ ที่กายนี้ตั้งอยู่ ที่ใจนี้ตั้งอยู่ ที่สมาธินี้ตั้งอยู่ ...แล้วทำความรู้เห็นจำเพาะกายจำเพาะใจ ไม่ไปรู้เห็นในที่ใดที่หนึ่งที่นอกเหนือจากจำเพาะกายจำเพาะใจ  

ต้องฝืน ต้องทวนความอยาก ใคร่รู้ใคร่เห็น  ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น  ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น

เหล่านี้มันจะเป็นกิเลสที่รบกวนผู้ปฏิบัติ ที่มุ่ง..กำลังมุ่ง ที่ตรง..กำลังตรง ที่อยู่บนเส้นทางแห่งมรรคตลอดเวลา ...หรือในผู้ที่เป็นเสขบุคคลก็ตาม ก็ยังมีกิเลสน้อยวนเวียนๆ อยู่

ยกเว้นพระอเสขะ ...ต่ำกว่านั้นท่านถือศีลสมาธิปัญญานี่เป็นสัลเลขธรรม ...รู้จักสัลเลขธรรมมั้ย เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสเสมอ ไม่ว่างเว้นๆ ...นั่น สำหรับผู้เดินบนมรรคอย่างเต็มตัว

แต่ถ้าเบื้องต้นยังไม่รู้จักเส้นทางแห่งมรรคอยู่ตรงไหนที่ไหน อันนี้ต้องเคี่ยวเข็ญกัน สามวันดีสี่วันเลว สามวันดี..อยู่บนเส้นทางแห่งการเดินไปในมรรค  สี่วัน..อยู่ตามกิเลส ค้นหาไปทั่ว

อันนี้ต้องเคี่ยวกรำ...ภายนอกก็เคี่ยวกรำ ตัวเองก็เคี่ยวกรำภายใน ต่อต้านกับกิเลส ต่อสู้กับกิเลส ไม่งอมืองอตีนไปกับมัน แข็งขืนกับกิเลส ฝืนทวนกิเลส

คือความนึกคิดปรุงแต่งน้อยใหญ่ อารมณ์บ้าง แม้กระทั่งความหลงเพลินลืมเลือน ล่องลอย ...จะไปงอมืองอตีน จมอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่ได้

เมื่อรู้สึกระลึกได้ว่าตัวนี้หายไป จะต้องกระวีกระวาด ขวนขวายในศีลขึ้นมา อย่างต่อเนื่อง เป็นนิจ ...เนี่ยคือหน้าตาของผู้ปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ และก็ปฏิบัติดีต่อไป

ไม่ปล่อยให้ใจลอย เลื่อนลอย นั่งก็ลอย ยืนก็ลอย หยิบจับฉวยอะไรก็เลื่อนๆ ลอยๆ กึ่งฝันกึ่งตื่น สะลึมสะลือ  ทำไปโดยความเคยชิน แม้จะไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ ก็สะลึมสะลือ เบลอๆ

มันทำได้สำเร็จในงาน อิริยาบถต่างๆ ก็ด้วยความชิน ไม่ได้เป็นการสำเร็จในงานภายนอกด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว ทุกท่วงท่า ทุกท่าทีแห่งกายเลย

ถ้าไม่เข้มงวดในการเจริญสติรักษาศีลอย่างยิ่งยวด ...การรวมจิตการรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียวกันนี่ เป็นไปได้ยาก...ถึงขั้นลำบากแสนสาหัสเลย

จะใช้อุบายแบบไหน พุทโธขนาดไหน กำหนดวิรัติตัวเองขนาดไหน อดข้าวอดนอนขนาดไหน ก็ยากที่จะรวมจิตรวมใจให้เป็นหนึ่ง ...ได้ก็จะได้บ้างเป็นครั้งคราวแล้วก็หายไป

มีแต่ได้กับเสื่อม ดีกับเสื่อม แล้วก็เสื่อมมากกว่าได้ ...ไม่สามารถรวมจิตรวมใจได้เป็นกอบเป็นกำเลย ไม่สามารถรวมกายให้เป็นหนึ่งได้ตลอดเวลาเลย

มีแต่กายที่แตกกระสานซ่านกระเซ็น ไม่รู้กี่กาย ไม่รู้กี่ขันธ์ ไม่รู้กี่รูป ปะปน ปนเปื้อน อลหม่าน ...คัดกรองไม่ออก แยกแยะไม่ออก กายจริง กายเท็จ กายปรุงแต่ง กายธาตุ กายธรรม

นั่นแหละที่ท่านเรียกว่าไม่ชัดเจนในศีล ไม่รู้ที่จะปักหลักปักฐานลงในศีล มันจึงเกิดความเลื่อนไหลออกไป ...เพราะมันไม่ปักหลักปักฐานลงในศีลตามความเป็นจริงได้อย่างชัดเจนและมั่นคง

เดี๋ยวๆ ก็เบื่อ  เดี๋ยวๆ ก็หน่าย  เดี๋ยวๆ ก็รอ  เดี๋ยวๆ ก็พัก..อยู่ซ้ำเดิมอย่างนี้ ...แข่งกับกิเลสไม่ทัน แข่งกับความหลงลืมไม่ทัน

การกระทำ การประกอบในศีลสมาธิปัญญา...ไม่มีใครช่วยได้เลย นอกจากตัวเอง ต้องทำเอง ต้องสร้างขึ้นมาเอง...ต้องเจริญขึ้นมาเอง ด้วยกำลังความพากเพียร ...ไม่มีอะไรหรอกที่ได้มาง่ายๆ สบายๆ

แค่จับจิตให้อยู่กับตัว แล้วก็พยายามประคองไม่ให้มันออกนอกตัวนี่ก็เหนื่อยแล้ว ...ไม่ต้องทั้งวันหรอก ห้านาทีก็หืดขึ้นหืดจับแล้ว  แล้วตั้งใจซ้ำใหม่ได้ไม่เกินสิบครั้ง ไม่เอาแล้ว

เป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นอย่างนั้นแหละเหมือนๆ กัน ...ความขยันบากบั่น พากเพียร รู้แล้วรู้อีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันน้อยเหลือเกิน มันได้เป็นแบบ...เป็นพักๆ

แล้วก็พักทีนี่ก็ยาววววว นู่น ข้ามวัน จนข้ามชาติ กว่าจะเจอศีลสมาธิปัญญาอีก ...แล้วก็มานั่งทอดอาลัยตายอยาก..เฮ้อ ทำไมช้าจัง ...มันก็สมควรแก่เหตุน่ะนะ


(ต่อแทร็ก 16/36  ช่วง 2)



วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 16/35 (2)


พระอาจารย์
16/35 (571024C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 ตุลาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 16/35  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อจิตมันหดตัว หยุดความปรุงแต่ง ระงับความปรุงแต่งด้วยตัวของมันเอง คือมันลงให้ศีลสมาธิปัญญานั่นเอง

พอมันลงให้ศีลสมาธิปัญญา มันหยุดความปรุงแต่ง ระงับความปรุงแต่ง ได้เป็นระยะเวลาอันยาวนานขึ้น ...ธรรมเบื้องหน้าที่ปรากฏคือกาย จะชัดเจนแบบหาที่ติมิได้

เป็นบริสุทธิธรรม เป็นวิสุทธิกาย เป็นศีลเป็นกายอันบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากมลทิน ที่ไม่ใช่ “เรา” อย่างยิ่งยวด ...นี่ ปัญญาขั้นสูงจะเกิดขึ้น ยอมรับต่อสภาพธรรมที่ไม่ใช่ “เรา” จริงๆ

แบบที่ไม่ต้องบีบบังคับให้เชื่อ...แต่เชื่อแบบไม่มีอะไรมาคัดค้านได้เลย ...ญาณทัสสนะ ญาณวิสุทธิทัสสนะบังเกิดขึ้น อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน กิเลสทีนี้ก็เริ่มสลาย

พอญาณตัวนี้เกิด ญาณวิมุติเกิด ญาณทัสสนะเกิด ญาณวิมุติเกิดนี่ กิเลสเริ่มสลายแล้ว ...ไอ้ที่มันระงับไว้ๆ รอเวลาช่วงเผลอ แล้วจะจาบจ้วงขึ้นมา  มันก็เริ่มสลาย หมดกำลัง 

จนสลายไป หมดสิ้นซึ่งกิเลสไป ทีนี้กายก็จะเด่นหรา ...ไม่ได้เด่นหราตามกิเลสปิดบังนะ เด่นหราตามความเป็นจริง เรียกว่าสว่างกาย กายก็ปรากฏด้วยความสว่าง ปราศจากมลทิน

ไปไหนก็ไป อยู่ไหนก็อยู่ เจออะไรก็เจอ  มันก็สว่าง อย่างไรอย่างนั้น ...ร้อนก็ร้อน เย็นก็เย็น ร้อนมากระทบก็ร้อน เย็นมากระทบก็เย็น แข็งมากระทบก็แข็ง

ก็สว่างอยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรเป็นเราเลย ชัดเจนมาก ...ต่างคนต่างอยู่ กายส่วนกาย รู้ส่วนรู้ ใจส่วนใจ กิเลสไม่ต้องถาม..ไม่มี ส่วนที่ไปครอบงำกาย..ไม่มี

ทำถึงจุดนี้นี่จะเรียกว่า ถอนหายใจเฮือก ...แต่ถ้ายังไม่ถึงจุดนี้นะ ยังถอนหายใจไม่ได้เลย

ถึงบอกว่าการภาวนาไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หรือไม่ใช่เรื่องที่ว่าง่ายๆ หรือว่าวันนี้พรุ่งนี้แล้วจะได้ผล ปีนี้หรือปีหน้าจะได้ผลนะ จะไปถอนหายใจได้ต่อเมื่อ นี่ มันสว่างกาย ...แต่ยังไม่สว่างใจนะ

แต่แค่สว่างกายอย่างเดียวนี่...อือ กูไม่เกิดแล้วเป็นคน ไม่มีคำว่าเกิดมาเป็นคนแล้ว เพราะไม่มีอะไรที่มันจะมาหลงว่านี้เป็นคน นี้เป็นตัวเราอีกแล้ว ...วางใจได้นะ วางใจได้แล้ว

แต่ถ้าต่ำกว่านั้นยังวางใจไม่ได้ เกิดแน่ เป็นคนแน่ๆ ...แล้วถ้ายังไม่ถึงขีดขั้นที่เรียกว่าเห็นฝั่งนั่นน่ะ เป็นอะไรก็ได้...นี่ยิ่งหนักขึ้นนะ เป็นอะไรก็ได้นี่

นี่หมายความว่า อย่างเช่นตอนนี้ เราถามตรงนี้เลย ให้ตายตรงนี้เลย รู้มั้ย จะเกิดเป็นอะไร ยืนยันกับตัวเองได้แบบเต็มปากเต็มคำมั้ย ยืนยันได้ถึงว่าจะเกิดกี่ชาติต่อไปมั้ย

มันไม่สามารถตอบได้เลย ใช่มั้ย แปลว่าไปไหนก็ได้ ...เห็นมั้ย มันตรวจสอบตัวเองได้นะ ไม่ใช่ว่าตรวจสอบไม่ได้นะ

แต่ถ้าเป็นจิตที่มีปัญญา ศีลสมาธิปัญญาพรั่งพร้อมแล้ว...ตอบได้นะ มองออกนะ มองความเป็นไปของกายใจนี้ได้ มองความเป็นไปของขันธ์ห้านี้ได้ ว่ามันจะมีต่อไปประมาณไหนดี หรือไม่มีเลย

ไม่ต้องไปเปิดตำรามาเป็นอนุธานวิกรมเลย มาเทียบเคียงเลยว่าตรงหรือไม่ตรงตามตำรา ...แต่มันจะยืนยันได้ด้วยญาณทัสสนะ ได้ด้วยศีลสมาธิปัญญาของเจ้าของนั่นแหละ

ยืนยันแบบตรงไปตรงมาด้วย ไม่มีบิดพลิ้ว เข้าข้างฝ่ายกิเลสเลย ...เพราะมันเป็นศัตรูกับกิเลสร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ศีลสมาธิปัญญานี่ ...อย่ามาแอบอ้างนะ มันปัดทิ้งๆ ออกหมดเลย

แต่มันจะเห็นด้วยความตรงไปตรงมา...มีก็มี ไม่มีก็ไม่มี มากก็มาก น้อยก็น้อย...มันว่ากันตรงๆ  ติดก็ติด ไม่ติดก็คือไม่ติด ติดมากก็คือติดมาก ไม่มีคำว่าแอบอ้างเลยว่า เอ้ย อย่างนั้นรึเปล่า อย่างนี้รึเปล่า...ไม่มี

จะตรงที่สุดเลย...กิเลสมี รู้ว่ามีเลย ประมาณนี้ มีเท่านี้ รู้เลยว่ายังมีเท่านี้ ไม่มีบิดพลิ้วเลย  หรือมันน้อยลงก็รู้เลยว่าไม่น้อยไปกว่านี้ แล้วก็ไม่น้อยไปตามที่คิดเอาเอง  ยังไง..อย่างงั้น มันจะตรงมาก

ไม่โกหก...อย่าว่าแต่ไม่โกหกคนอื่น ตัวมันเองยังไม่สามารถโกหกตัวมันเองได้เลย ...ติดก็รู้ว่าติด ไม่ได้ว่า ไม่ได้ถือว่าไม่ดี หรือว่าแอบอ้างว่า คงไม่ได้ติดหรอก อย่างนี้มันเป็นอย่างนั้นรึเปล่า...ไม่มีอ่ะ

ติดก็ติด ยึดก็ยึด ยังวางไม่ได้ก็รู้ว่ายังวางไม่ได้ วางได้บ้างก็รู้ว่าวางได้บ้าง หายไปแล้วก็รู้ว่าหายไปแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าลึกๆ ยังมีอยู่...ก็รู้ ...เอ้า นี่คือศีลสมาธิปัญญาจะไม่โกหกเลยนะ

มีแต่ปากนี่โกหก ปากที่มาจาก “เรา” นี่โกหก  แต่ตัวศีลตัวใจนี่ไม่โกหกเลย ...เพราะนั้นทุกคนจะรู้ มันมีมาตรฐานของตัวเองอยู่แล้ว มาตรฐานของกิเลสนี่...อย่ามาโกหกนะ

เพราะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ท่านมองมาตรฐานนั้น ไม่มองมาตรฐานเปลือก ท่านไม่มองเปลือก แล้วท่านไม่เอาเปลือกมาเป็นที่วิจารณ์ ไม่ด่า..ทำไมเกิดมามึงไม่สวยวะ ไม่ชม..ทำไมมึงเกิดมาสวยเหลือเกินวะ 

ท่านไม่เอาตัวนั้นมาเป็นปัญหาเลย ...แต่ท่านจะเอาตัวที่ว่ากิเลสมากน้อย แล้วกำลังทำอย่างไร ในข้างสนับสนุนหรือในข้างถอดถอน หรือในข้างละวาง ...อย่างนี้ต่างหากที่ท่านจะสอน

แล้วก็แปลความโดยใช้ภาษาธรรมนี่มาสอน เพื่อให้เข้าไปถึงจุดนั้น ...ไม่ได้ให้ไปตกแต่งอะไร หรือไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขภายนอก เปลี่ยนแปลงแก้ไขอารมณ์ เปลี่ยนแปลงแก้ไขกิเลส

หรือแม้แต่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขจิตอะไร...ไม่สนเลย ...นี่ถึงเรียกว่าเป็นผู้ที่ท่านสอนตรงต่อมรรค ตรงต่อการปฏิบัติ ไม่ได้เอาผลข้างเคียงของการปฏิบัติมาเป็นเมนเป็นหลัก

ผลข้างเคียงคือแบบ...ไอ้นั่งคุยกับเทวดา หรือไปนั่งดูความเป็นไปของสัตว์โลกที่มันเกิดมาในร้อยชาติที่แล้ว แล้วก็ไปตามชำระกรรมให้คนนั้นคนนี้ก่อนค่อยมาภาวนา ...ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เอาตัวนั้นเป็นเกณฑ์

สำหรับผู้ที่มี ผู้ที่ได้ ผู้ที่เป็นโดยสันดาน ก็เอาวางไว้ห่างๆ ไม่ไปข้องแวะกับมันมากจนเกินไป จนมาทำให้ศีลสมาธิปัญญาบกพร่อง นี่ถ้าอย่างนี้เรียกว่าจนเกินไป

แต่ถ้ากำลังพอดี คือหมายความว่าไม่ขาดซึ่งศีลสมาธิปัญญาระหว่างที่ไปแตะต้องมัน ...ซึ่งก็บอกว่า เป็นไปได้ยาก ถ้าไม่ได้ว่าวางกิเลสได้จนถึงระดับที่วางใจได้แล้ว...ไม่มีทางหรอก ยากมาก

มันอดไม่ได้หรอกที่จะเข้าไปแบบสองตีนสองมือน่ะ ...ไอ้แรกๆ ก็มือหนึ่งตีนหนึ่ง อีกตีนหนึ่งก็เขย่งไว้ ยืนแบบเขย่งไว้บนศีลสมาธิปัญญา...แต่เขย่งได้ไม่นานหรอก สองตีนไปแล้ว

เหล่านี้ถึงบอกว่า ออกได้..ออก วางได้..วาง  ยืนหยัดไว้...สองแขนสองขา สองมือสองตีน ต้องยืนอยู่บนฝั่งศีลสมาธิปัญญา ฝั่งกายใจปัจจุบัน ฝั่งความรู้ตัว

จะเป็นตัวตรงไหนได้หมด ...หมายความว่าตัวในปัจจุบันนี่ ตรงไหนก็ได้  ตัวลมก็ได้ ตัวความรู้สึก ตึง แน่น แข็ง อ่อน ตัวรูปทรง กรอบรูปทรงก็ได้ ...อะไรก็ได้ขอให้มันเป็นกายปัจจุบันนี่แหละ 

ที่มันมีอยู่จริง ปรากฏจริงๆ ...ไม่ใช่สร้างขึ้นมาใหม่ ...อะไรที่ไปสร้างกายขึ้นมาใหม่ แล้วไปดูกายตัวนั้น เราจะไม่เรียกว่ากายตามจริงหรือกายที่เป็นศีลตามความเป็นจริง 

อะไรที่สร้างขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากกายปัจจุบันนี่ ถึงแม้จะเป็นแวดวงกายก็ตาม ...อย่างจิตบางดวง กำลังของจิตบางดวง เวลามันเพียรลงไปในกายที่เป็นกายความรู้สึกจริงๆ นี่ มันยังทะลุเกินกายเข้าไปเลย

ไปดูเป็นกระดูกบ้าง เป็นอะไรบ้าง เป็นเนื้อหนังตับไตไส้พุงอะไร ...ซึ่งเราก็ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี แต่เราบอกว่ามันก็ยังไม่ใช่...ใช่ก็ยังไม่ตรง ...เราเอากายตรงๆ ที่ไม่ได้เกิดการสร้างขึ้นมาใหม่โดยจิต


โยม –  นั่นคือนิมิต

พระอาจารย์ –  นิมิตหมด เราถือเป็นนิมิต แม้จะเป็นนิมิตหรือลางดีก็ตาม  เข้าใจมั้ย นิมิตดีการเห็นกายนี่ เป็นกะโหลก เป็นกระดูก เป็นไส้พุง เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นหนอง อะไรก็ตาม

หรือเห็นกายฉีกขาดไม่เป็นชิ้นเป็นอันนี่ มันก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ...แต่ว่ามันจะเป็นตัวครอบกายอีกชั้นหนึ่ง  มันมีหลายเลเวลนะ หลายเลเยอร์ ที่มันคลุมอยู่

แล้วถ้าไปหมกมุ่น หรือว่าไปเพียรอยู่ในกายตัวนั้นจุดนั้น มันก็เกิดความเนิ่นช้าไป ...ถ้าไม่มีใครชี้นำให้ออกจากหรือละวาง หรือเข้าไปทำที่สุดของตรงจุดนั้น ...มันก็จะไปวนเวียนอยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ แล้วก็เข้มแข็ง แล้วก็ไม่เอานิมิตใดนิมิตหนึ่งเลย ถือกายเป็นหลัก ลงมาที่ความรู้สึกเลย ลงมาที่กาย ลงมาที่ก้นเลย...ถ้านั่งอยู่...แข็ง แค่นี้

หรือถ้าขยับนี่..รู้ แค่นี้  ...ถ้าหยุด ไม่ขยับ ก็รู้ทึบๆ  รู้สึกทึบ เป็นก้อนทึบๆ หนักๆ เป็นมวลน้ำหนักที่ทิ้งลงมา กดทับลงมา ...แค่นี้ อยู่แค่นี้ รู้อยู่แค่นี้

อย่าให้ลืมแล้วกัน อย่าให้ลืมความรู้สึกในกายนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในท่าทางไหน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม นี่คือความเพียร

ต้องเพียรให้ได้ตลอด...ที่เรียกว่าทุกลมหายใจเข้าออก ศีลจึงจะไม่บกพร่อง ...นั่น ไม่ต้องถามสมาธิปัญญาเลย  เพียงตัวเดียวนี่แหละ...เอาอยู่ๆ เอากิเลสอยู่


โยม –  พระอาจารย์...ขออนุญาตขึ้นไปบนวัด

พระอาจารย์ –  เออ ไป ฟังพอเข้าใจ นี่แค่หยิกๆ สะกิดๆ


โยม –  ต้องมาอีกแน่นอนครับ เพราะว่าต้องกลับไปทำให้กระจ่างในธรรมเบื้องต้นก่อนครับ ตรงนี้ยังต้องไปลุ้นกายก่อนครับ

โยม –  พระอาจารย์ขา โยมก็จะกราบลาแล้วค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ ไป ตามสบาย ...ฟังพอเข้าใจจับประเด็นได้แล้ว ทีนี้ก็ไปปฏิบัติให้มันตรง  ใครที่ตรงอยู่แล้วก็ให้มันตรงยิ่งขึ้น อย่าเอา “เรา” มาสอดแทรกในการปฏิบัติ


(ต่อแทร็ก 16/36)