วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 16/32 (1)


พระอาจารย์
16/32 (571017B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
17 ตุลาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ตื่นตีสามรึ

โยม –  ง่วงมากเลยครับ

พระอาจารย์ –  เดิน เดินไปเดินมา แล้วก็สลัดความง่วงเหงาหาวนอนออกๆ ไป


โยม –  พระอาจารย์ครับ วันนั้นหลวงพ่อท่านมาเชียงใหม่ ผมก็ได้ไปสอบถาม ท่านก็ทักประมาณว่า เอ๊ะ ภาวนาอยู่รึเปล่า อย่างว่า ถ้าจิตผิดน่ะ เจริญสติหลายชาติก็ไม่บรรลุนะ อะไรอย่างนี้ มันเหมือนมันจะไปเคร่งๆ อยู่น่ะครับ

พระอาจารย์ –  ที่ไหน


โยม –  พอดีมีเวลานิดหน่อยครับ ที่เชียงใหม่

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ ..มันไปเคร่งๆ ที่ไหน


โยม –  ก็เหมือนกับดูกายอยู่ แต่มันไปขมวดอยู่นิ่งๆ อยู่ข้างในตัวเอง ท่านก็บอกว่าลองยิ้ม ยิ้มหวานเยอะๆ ยิ้ม เออ ผมก็ลองยิ้ม ท่านก็บอก เออ ต้องคลายออกอย่างนี้ 

แล้วถ้าไม่ใช่คำแนะนำอย่างนี้ ถ้าเราดูไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ ปรับเข้ามาสู่จุดพอดีได้เองบ้างไหมครับ

พระอาจารย์ –  ปรับได้ ก็บอกแล้ว อย่าลืมฐานกาย ...ไอ้ตรงนั้นน่ะ มันเริ่มจางจากกายแล้ว เข้าใจรึเปล่า มันไปเพียรเพ่งอยู่ในอาการของจิต ตรงนั้นน่ะมันเป็นอาการของจิต

มันไม่ใช่กายนะนั่นน่ะ แล้วไม่ใช่เวทนากายด้วย มันเป็นเวทนาในจิต เพราะนั้นมันก็สร้างอารมณ์โดยไม่รู้ตัว ...นี่แหละ เพราะว่าเราไม่เจาะจงลงกับความรู้สึกในกายจริงๆ

จิตมันก็ยังแทรกขึ้นมา เป็นอาการ เป็นอารมณ์  แล้วเราก็ไหลไปๆ โดยเข้าใจว่ามันเป็นอาการของกาย คือมันยังไม่ชัดเจน ถึงบอกว่า ลักษณะอย่างนี้ ต้องเคลื่อนไหวเยอะๆ

การเคลื่อนไหว แล้วก็จับความรู้สึกของการก้าวเดินนี่ การกระทบ การเคลื่อน การหมุนการหัน เป็นขณะๆ นี่..ที่มันหมุน ที่มันหัน เล็กๆ น้อยๆ นี่ จับความรู้สึกของกายให้ชัด

ไม่งั้นมันจะตกไปเข้าภวังค์จิต เข้าภวังค์อารมณ์ของจิตโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ไปจมแช่อยู่ตรงนั้น...โดยบางทีน่ะมันยังเข้าใจว่าเป็นการรู้กายอยู่ด้วย

แต่จริงๆ น่ะ ถ้ามันดูให้ดี ลุกขึ้นยืนปึ้บนี่ มันเห็นความรู้สึกในการยืนปั๊บนี่ เหมือนกับมันจะดึงออกมาจากภวังค์จิต ...แล้วมันก็จะถอนออก มันจะถอนออกจากอารมณ์ของจิต

นั่นน่ะ ศีลก็บังเกิดขึ้น สติ สัมมาสติก็เกิดขึ้น ความแจ่มชัดของสติก็เกิดขึ้น ใจที่ตื่นรู้มันก็ปรากฏ ...เหมือนกับมันสะดุ้งตื่นขึ้นน่ะ

เพราะนั้นไอ้การที่ให้ยิ้มหวานยิ้มอะไรนี่ นั่นน่ะ เหมือนกับการสร้างความเคลื่อนไหว ความรู้สึกทางกายนี่ให้ปรากฏ ...แล้วมันก็ถอนออกมาจากตรงนั้น จิตมันก็คลายออกจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์

ก็เรียกว่ามันถอนจากกิเลส ถอนจากความปรุงแต่ง ถอนจากภวังค์ภพ ...นี่ถือว่าเป็นภวังค์ภพในจิต มันสร้างภพเป็นลักษณะอาการใดอาการหนึ่งที่นอกเหนือจากกาย บอกให้เลย

นี่คือจะทำยังไงที่จะทำความรู้สึกในกายมาแทนที่น่ะ  มันก็จะถอนออก ถอยกลับ ขมวดเข้ามาอยู่กับความเป็นจริงของกาย...ภวังค์ภพในจิตมันก็ดับ มันก็สลาย

เพราะนั้นเวลามันเริ่มมึน เริ่มซึม เริ่มเบลอ เริ่มมัวๆ เข้าไปนี่  มันขมุกขมัว สะลึมสะลือ เวลาเข้าไปอย่างนี้ แปลว่าจิตหมดแล้ว หลงเข้าไปในภวังค์จิตหมดแล้ว

แม้แต่อาการถีนมิทธะนี่แหละ อาการง่วงเหงาซึมเบลอนี่  กายนี่จะเจือจางมาก มันลงฐานไม่ได้เลย ...ตรงนี้เรื่องของจิตหมดแล้ว จิตมันครอบงำกายแล้ว กิเลส พูดง่ายๆ กิเลสมันครอบงำกายแล้ว

นี่ ท่านเรียกว่านิวรณ์ เพราะนั้นไอ้อาการพวกนั้นน่ะ คือนิวรณ์หมด ...แต่คราวนี้ถ้าคนไม่เข้าใจก็จะไปเพียรเพ่ง เพื่อจะไปแก้มันอย่างนั้น ...ไม่ใช่ เข้าใจมั้ย

อย่าไปแก้มันอย่างนั้น ด้วยวิธีการ ว่าจะไปเพียรเพ่งในอารมณ์นั้นให้มันดับไป ให้มันสลายไป แล้วกายก็จะได้ปรากฏขึ้นมาใหม่ ...ไม่ใช่ มันจะต้องถอนออกเลย

การแก้คือจะต้องแก้ในปัจจุบัน คือถอนออกเลย ทำความรู้สึกในกายให้ปรากฏ เช่นสูดลมหายใจก็ได้ ...อะไรก็ได้ ที่มันเป็นส่วนของกาย ส่วนของศีลนี่ มันก็จะเกิดภาวะตื่นรู้ขึ้นมาเอง

ทีนี้ว่าสติสมาธิปัญญามันไม่สามารถจะทรงศีลทรงสมาธิได้ต่อเนื่อง เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ เคลื่อนออก เคลื่อนออก ...เหมือนกับมาคลุมใหม่ มันมาคลุมกายใหม่

เริ่มๆ เริ่มจากเป็นหมอกมัวๆ มัวๆ  แล้วก็ค่อยๆ คลุมไปเรื่อยๆ  แล้วเราก็ไปไหลตามมัน หรือว่าไปคลอเคลียอยู่กับมัน ...นี่ มันก็เริ่มห่างกายออกไปเรื่อยๆ

แล้วก็ไปสร้างเมฆหมอกให้มันหนาทึบขึ้น หนาทึบขึ้น ...ทีนี้กายใจนี่ถูกบดบังหมด มีแต่เรื่องราวมาแทนที่หมดเลย ...ขันธ์ห้าเกิดแล้ว ขันธ์ห้าเกิดเลย ความจริงจังในขันธ์ห้าเกิด

แล้วก็ไปเลือกเฟ้นธรรมตรงนั้นตรงนี้ จะไปหาความเป็นจริงตรงนั้น ตรงนี้ ตรงโน้น ไปหาความเข้าใจกับมัน ...ไม่ใช่ ต้องปัดทิ้งออกหมดเลย หรือว่าแหวกออก

ไม่ปัดทิ้งเลยก็ต้องแหวกออก นะ ให้มันเห็นสภาพที่แท้จริงของกาย หรือความรู้สึกจริงๆ ของกาย ...ห่างไม่ได้ กายน่ะ โดนจิตหลอกหมดน่ะ

มันแอบอ้างกายขึ้นมาบ้าง มันแอบอ้างสภาพธรรมนั้นธรรมนี้บ้าง แอบอ้างอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ขึ้นมาบ้าง ...นี่ มันจะหลงเข้าไปหมดน่ะ เหมือนกับมันมีแรงดึงดูดให้เข้าไปโดยไม่รู้ตัวน่ะ

เพราะว่าสติมันอ่อน แล้วก็ความชัดเจนในกายนี่ ไม่ชัด ไม่สามารถจำเพาะกายลงไปได้ ไม่สามารถสร้างความรู้จำเพาะกายลงได้ด้วยความชัดเจน

ยังไงก็ต้องถือกายเป็นหลักอยู่ดีน่ะ ทิ้งหลักไม่ได้ ทิ้งศีลไม่ได้ ...ถ้าทิ้งเมื่อไหร่นี่ กิเลสหลอกพาไปตกระกำลำบากหมดน่ะ


โยม –  ก็ต้องรู้กายด้วย แล้วคลายจิตด้วยอะไรอย่างนี้รึเปล่า

พระอาจารย์ –  รู้กายเบาๆ ...คำว่าคลายจิตคืออะไร ...คือรู้โดยที่ไม่เอาอะไรกับมัน ...ที่ว่าการคลายจิตนี่ ไอ้ที่มันไปขมวดจิตขึ้นมาเพราะมันมีเจตนาเข้าไป จะเอาอะไร

ไอ้ตรงที่เจตนาที่จะเอาอะไรนั่นแหละ คือการเพ่ง ตึง ...แต่ว่าการรู้กาย คำว่ารู้กายโดยที่ไม่เอาอะไร จิตมันจะคลายเอง มันปรากฏยังไงก็รู้อย่างงั้นน่ะ ไม่ว่ายังไงกับมันน่ะ

นี่เขาเรียกว่ารู้แบบเบาๆ รู้แบบไม่เอาอะไรกับมัน มันปรากฏยังไงก็อย่างงั้น มันปรากฏเท่าไหนก็เท่านั้น นี่ จิตมันก็จะคลายออกจากเจตนา...เราน่ะ ที่มันมีเจตนา มันก็คลายออก จิตก็คลายออก

มันก็ไม่ได้เพ่ง เพียงแต่ว่ามันเข้ามาประคับประคอง รักษาความรู้ความทรงสภาพกายไว้ ไม่ให้มันขาดหาย ...เรียกว่าประคับประคอง  มันไม่ได้เพ่ง..เพ่งแบบจะเอาอะไร

แต่ว่า ถ้าพอทำไปเรื่อยๆ ประคับประคองแล้วมันชำนาญดีแล้ว มันจึงจะเกิดการเพียรเพ่งลงในกายอีกทีหนึ่ง อันนี้หมายความว่าเข้มงวดเลย...แต่มันจะรู้ มันไม่ได้เพ่งเอาอะไร

แต่มันเพียรเพ่งเพื่อไม่ให้มันขาด ...เพื่อไม่ให้มันขาด เพื่อไม่ให้มันหลุด นี่ ต้องอาศัยการเพียรเพ่ง ไม่งั้นหลุด ...แต่ไอ้ที่ปล่อยนี่ ให้คลายจากจิต มันคนละความหมายกัน

แต่พอสุดท้ายยังไงก็ต้องมาเพียรเพ่ง ...ถ้าไม่เพียรเพ่งกาย หลุด เอาไม่อยู่ ...เหมือนเราเดินไปบนถนนที่มันมีแต่ตะไคร่น้ำนี่ แล้วเราเดินไปนี่ มันจะลื่นแพล้บๆ พรืดๆ ไถลหมดเลยน่ะ

นั่นน่ะ กายจะเป็นอย่างนั้น  จิตมันจะพาวืดๆ วาดๆ ออกไปหมด ...มันจึงต้องเดินบนถนนนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดรึเปล่า ต้องตั้งอกตั้งใจอย่างยิ่งรึเปล่า ไม่งั้นมันไถลนะ

นั่นน่ะที่ท่านใช้คำว่าอาตาปี หรือว่าเพียรเพ่ง ถ้าไม่เพียรเพ่งระวังรักษาอย่างยิ่งน่ะ ไม่มีทางเดินได้ ...นอกจากว่าเดินไปเรื่อยๆ ลึกๆ เข้าไปนั่นแหละ คราวนี้กายมันจะไม่ลื่นแล้ว มันอยู่แล้ว ชำนาญแล้ว

แต่ไอ้ตอนที่แรกเข้าไปนี่ มันยิ่งกว่าตะไคร่น้ำแล้วก็ฉาบวาสลินด้วยเอ้า  ยืนขึ้นจะเดินยังยืนไม่ได้เลย ยืนไม่อยู่เลย ขาถ่างแล้วก็ล้ม แล้วก็แพร่ด ...มันไม่ใช่ว่าจะอยู่กับกายได้ง่ายๆ 

กิเลสน่ะ...พอมันออกไปข้างนอกปุ๊บนี่ ออกนอกกายไปปุ๊บนี่ มันมีสภาวะ มันสร้างสภาวะใด สภาวะหนึ่ง สภาวะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่มันพึงพอใจขึ้นมา...นี่กูอยู่ได้น่ะ ชอบน่ะ

ถ้ามันชอบ มันอยู่ได้น่ะ อยู่ได้ง่ายด้วย นั่น ...มันก็จะสร้างสภาวะที่อยู่ได้ง่ายๆ นี่ให้อยู่ ...เพลินน่ะ เพลินๆ หาอะไรทำใช่มั้ย หาอะไรทำอย่างนี้ หาอะไรอ่าน

นี่ อะไรที่พอใจ ทำแล้วมันอยู่ได้ มันเพลินน่ะ มันพอใจ ...แต่ให้มาอยู่กับกาย...อยู่ไม่ได้ อยู่ได้ยาก  มันก็มักจะไปที่มันง่ายๆ เพราะมันเพลินน่ะ พอใจน่ะ

นั่นแหละ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มันก็เกิดอยู่ตลอดเวลาในจิต ...การดำรงองค์มรรคมันก็ยาก ดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งศีลสมาธิปัญญา มันก็ยาก 

คราวนี้ถ้ามันไม่ตั้งใจ ถ้ามันไม่เข้มแข็ง ถ้ามันไม่เพียรเพ่งนี่ ...ทีนี้มันจะไปฟังอาจารย์ท่านอย่างเดียวไม่ได้ อาจารย์ท่านจะพูดเรื่องจิต เพ่ง เคร่ง...เพ่งนะ เคร่งนะ ท่านพูดเรื่องจิตนะ เข้าใจมั้ย

แต่เราพูดเรื่องกาย เราบอกต้องเพ่งกายนะ มันคนละเรื่องกัน เออ ที่ท่านทักว่าเพ่งไปนะ เคร่งไปนะ นั่นคือจิต ท่านพูดเรื่องจิตล้วนๆ เลย ท่านไม่ได้พูดถึงการอยู่กับกาย

แต่ถ้าท่านมาทักว่า เพ่งกายไปนะ อะไรอย่างนี้ อย่ากลัว เอาเหอะ ที่อื่นยังไม่ต้องไปเพ่ง ทีนี้มาเพ่งกายนี่ เราก็ต้องดูว่า ถ้าท่านว่าอย่างนั้นหมายความว่ายังไง หมายความว่าเราอาจจะมีเจตนาอะไรแฝงอยู่ ใช่มั้ย


โยม –  ใช่แล้วครับ

พระอาจารย์ –  มันจะเอาอะไร เพ่งเพื่อเอาอะไร อย่างนี้เรียกว่าเพ่ง เพ่งกาย...ไม่ใช่ 

แต่ถ้าคำว่าอาตาปี จะเพ่งเพื่อไม่ให้มันหลุด ...อันนี้เจตนาไม่มีว่าจะให้เห็นมรรคเห็นผล จะให้ได้เกิดความรู้อะไร ...แต่เพ่งเพื่อไม่ให้มันหลุด ตรึงไว้ เหมือนกับตรึงไว้ เหมือนปักหมุดน่ะ

แล้วก็ค่อยๆ ก้าวเดินไปทีละก้าวอย่างแข็งแรงน่ะ แข็งแรง  ทีละขณะๆ อย่างแข็งแรง อย่างมั่นคง ...นั่นมันไปด้วยสมาธิ อยู่ด้วยสมาธิ

แล้วก็สมาธิก็จะพาเดินไปในกาย บนกาย โดยที่ไม่หลุด โดยที่ไม่เลื่อนออกจากกาย ไม่ไถลออกจากกาย ...นี่ มันก็เกิดปัญญาขึ้นในกาย รู้เห็นในกายตามความเป็นจริง

แต่ถ้าไม่ตั้งใจอย่างจริงจัง เพียรเพ่งลงไปในกายที่เดียว...ไม่อยู่หรอก ...เพราะนั้นมันต้องฟังให้เข้าใจว่า อาจารย์ท่านพูดนี่ แล้วเราต้องตีความให้เข้าใจ

ไม่ใช่ว่าพอบอกว่าเพ่งปุ๊บ ปล่อยหมดเลย กายก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา ...จะปล่อยให้จิตลอยๆ เลยอย่างนี้ แล้วก็ไม่เกร็งไม่เครียดๆ อย่างนี้...ตาย เอาอะไรไม่อยู่สักชิ้นน่ะ บอกให้เลย

ล่องลอยแบบว่าวไม่มีสายป่านเลยน่ะ ไม่มีหลักไม่มีฐานเลยน่ะ ลอยเคว้งคว้างอยู่อย่างงั้นน่ะ อยู่กลางความเคว้งคว้างแล้วมันไม่ต้องไปจับอะไรเลย เพราะกลัวเกร็งกลัวเพ่งน่ะ ...มันก็ไปกันใหญ่

แล้วคราวนี้อาจารย์ท่านก็ไม่ได้อธิบายแบบชี้ชัดลงไป ก็พูดรวมๆ ผ่านๆ น่ะ ไม่ได้สาธยายธรรมออกมาเป็นอย่างละเอียดลึกซึ้งในการใช้ภาษา เพราะนั้นการฟังการตีความมันก็แตกต่างกันไป

ทีนี้ก็เลยไปติดว่า เพราะท่านทักบ่อย เพ่งไปนะ ก็เกร็งเพ่งไปเลย ไม่ยอมเพ่งอะไรเลย ปล่อยเลย ...ถ้าปล่อยน่ะเสร็จ เอาไม่อยู่หรอก ไม่มีอะไรอยู่สักชิ้น...เป็นชิ้นเป็นอันเลยน่ะ

แล้วก็คอยรอให้มีอารมณ์แรงๆ ถึงจะรู้ทีนึงอย่างเนี้ย ...มันจะปล่อยไปอยู่อีหรอบนั้นแหละ แล้วถ้าไม่มีอะไรก็ปล่อย กลัวจะไปเป็นการเพียรเพ่งค้นหาลงไปอีก

อย่างนี้ไม่มีทางทันกิเลส บอกให้ มันอยู่ในกระแสของกิเลสทั้งหมดเลยนะนั่นน่ะ ...บอกให้เลยว่า กระแสจิตนี่คือกระแสกิเลสทั้งหมดเลย


(ต่อแทร็ก 16/32  ช่วง 1)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น