วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 16/33 (1)



พระอาจารย์
16/33 (571024A)
24 ตุลาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การเห็นตามที่เป็นจริงๆ คืออะไร  คืออย่างที่ไม่มีความหมายในตัวมันเอง ...มันก็จะเห็นอยู่ในที่นี้แหละ ก็เห็นแค่กายนี้แหละ ไม่ใช่ไปเห็นกายอื่นเลย ไม่ใช่ไปเห็นกายไหนเลย

ก็กายนี้ กายคนนี้ กายคนเดิม กายตัวเองนี่แหละ ...เนี่ย คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการให้มนุษย์ทุกผู้คนมาเห็นความเป็นจริงของกายตัวเองเป็นอันดับแรก

เพราะไอ้ที่เห็นกายตอนนี้ของพวกเรานี่ มันเห็นผิดไปจากความเป็นจริง มันเห็นว่ากายนี้เป็นของเรา มันเห็นว่ากายนี้เป็นผู้ชาย-ผู้หญิง มันเห็นว่ากายนี้ชื่อนั้นชื่อนี้ มันเห็นว่ากายนี้มีสุขมีทุกข์ของเราอยู่

เหล่านี้คือความเห็นที่มันมีแต่ดั้งเดิม..ทุกผู้ทุกคนเลย ...ไอ้ความเห็นอย่างนี้ ที่มีอยู่ในทุกผู้ตัวคนนี่ มันคือความเห็นที่ผิดจากความเป็นจริง

แต่ด้วยความที่ไม่มีสติสมาธิปัญญา มันกลับเชื่อความเห็นที่มันมีอยู่นี่ว่าเป็นจริง ...เมื่อเห็นว่าความเห็นนี้เป็นจริง แล้วเชื่อว่าจริงอย่างนี้ ...จุดนี้เองที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ถ้ามันเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่เรา แล้วมีอะไรมากระทบกับกายตัวนี้ มันจะเดือดร้อนไหม...ก็คงไม่มีใครเดือดร้อน  ถ้ามีเสียงมากระทบกายนี้ ว่า เลว ชั่ว ทราม ต่ำช้า สารเลว มันจะเดือดร้อนมั้ย...ไม่เดือดร้อน

ยกเว้นคนข้างๆ อาจจะเดือดร้อนแทน ...แต่ไอ้ตัวของมันเองจะไม่เดือดร้อน เพราะมันไม่มีตัวเราอยู่ในนี้ ใช่มั้ย เพราะนั้นทุกข์มันจะเกิดได้ไหม...ไม่ได้

เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าถึงว่าต้องให้มาอยู่ที่กาย ต้องให้มาอยู่ที่ศีล ต้องให้มารู้ที่กาย ต้องให้มารู้ที่ศีล เพื่อค้นหาความเป็นจริงในกายนี้ เพื่อให้เห็นความเป็นจริงของกายนี้อย่างถ่องแท้

จะได้ไม่ต้องสงสัยว่า...รู้ไปทำไมวะ กูนี่ยกมือแทบตาย ยกทำไม  ทำไมจะต้องไม่ให้ออกนอกกายนี้เลย ทำไมจะต้องให้จิตหยุดคิดนึกปรุงแต่ง

เพราะไอ้จิตที่มันไม่หยุดนี่ เหมือน...เคยเล่นคอมฯ ไหม ...มันคอย copy and paste  มันจะ paste ความเห็นลงไป  มันจะ paste ภาษาลงไป มันจะ paste ความเชื่อลงไป...บัง 

มันบังความเป็นจริง เข้าใจมั้ย ...มันก็เกิดความทับซ้อน  มัน paste จนซ้อนทับถม อย่างหนาแน่น 

แล้วทีนี้พอจิตมันหยุด มันไม่ได้ paste อะไรลงไป มันไม่ได้ออกความเห็นออกมา มันไม่ได้วาดลวดลายเขียนเป็นภาษาใดๆ ...กายแท้ๆ จึงปรากฏ 

นี่ ธาตุแท้ธรรมแท้ของกายปรากฏ...โดยที่ไม่ต้องไปค้นหาเลย โดยที่ไม่ต้องหยิบยกภาษามาอธิบายมันเลย โดยไม่ต้องเอาตำรามาเทียบเคียงเลยว่าใช่หรือไม่ใช่

เพราะนั้นไอ้กายที่มันปรากฏเมื่อจิตมันหยุด...ด้วยสมาธินี่ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งนี่ ...ทำไมมันถึงเกิดปัญญา หือ ทำไมถึงเกิดปัญญาโดยที่ไม่ต้องหยิบยกมาคิด

ทำไมถึงเกิดปัญญาที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าเป็นปัจจัตตัง...รู้เองเห็นเอง 

คำว่าปัจจัตตังนี่ แปลว่ารู้เองเห็นเองนะ ...ไม่ใช่คนอื่นมารู้แทนนะ ไม่ใช่เอาความรู้คนอื่นมาเป็นความรู้ของตัวเองแทนนะ ...มันรู้เอง มันเห็นเอง แล้วมันสรุปได้ด้วยตัวเองว่า..จริง ไม่ใช่ของปลอม

นี่ไม่ได้ใช้ความคิด ไม่ได้ผ่านกระบวนการความคิดเลย ...แต่มันกลับเข้าใจความเป็นจริงอย่างลึกซึ้ง อย่างไม่เชื่อความเห็นที่มันเคยเชื่อมาแต่เก่าก่อน

เพราะนั้นปัญญาตัวนี้ จึงเป็นปัญญาที่เข้าไปลบล้างความเห็นผิดในเบื้องต้น ที่เรียกว่า...สักกายทิฏฐิ  ที่เรียกว่า...สีลัพพตปรามาส  ที่เรียกว่า...วิจิกิจฉา

สิ่งนี้  ๓ สังโยชน์เหล่านี้ คือสิ่งที่จิตนี่ paste ลงมาทับ มาบัง มาคลุมกาย ...แล้วยังเนื่องไปถึงรูปราคะ ยังเนื่องไปถึงกามราคะ ยังเนื่องไปถึงปฏิฆะ

ศีลสมาธิปัญญาที่เพียรเพ่งจรดลงในที่กายเดียวนี่ มันไปลบสิ่งที่กิเลสหรือจิตนี่มา paste ไว้ มาบังไว้ มาห่อหุ้มปกคลุมไว้ ...จนมันสลาย จนมันเจือจาง จนมันขาด จนมันเกลี้ยงเกลา

จนมันเห็นเนื้อแท้ธรรมแท้ของกายที่เป็นเพียงแค่ว่า...สักแต่ว่ากาย ...ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่สวย ไม่ใช่งาม ไม่ใช่ไม่สวย ไม่ใช่ไม่งาม

แจ้งไหมเนี่ยๆ อย่างนี้เรียกว่าแจ้งไหมนี่ เห็นกายแจ้งกายไหมนี่ แจ้งว่าไม่ใช่เราไหมนี่ ...แล้วทำไมมันไม่แจ้งกันล่ะ ...ก็เพราะมันไปทำที่อื่น ก็เพราะมันไปเพียรเพ่งในที่อื่น

ก็เพราะไปหาธรรมในที่อื่น ที่ไม่ใช่ที่กายนี้ตั้งอยู่ ...แล้วถ้ามันไปแจ้งในธรรมที่อื่นที่ไม่ใช่ที่กายนี้ตั้งอยู่ ถามว่ามันจะละสักกายทิฏฐิได้ยังไง กูงงว่ะ หือ

มันจะไปละความยึดมั่นถือมั่นว่านี้เป็นกายเรา นี้เป็นตัวเราได้อย่างไร ...ก็มึงไม่ได้ดู มึงไปดูตรงนั้น มันจะละสักกายทิฏฐิได้ตรงไหน

ก็ถามว่ามึงเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าองค์ไหนมาวะเนี่ย ...พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเลยน่ะ ว่าไปดูที่อื่น ไปแจ้งที่อื่น แล้วดันละสักกายทิฏฐิได้ ...กูงงว่ะ น่างงไหมนี่

ถามเรื่องดูจิตไม่ใช่เหรอ ได้คำตอบมั้ย ว่ามันจะละสักกายทิฏฐิได้ยังไง...ถ้าไม่เอากายนี้ ถ้าไม่เอาศีลนี้เป็นที่ตั้ง มันจะเห็นได้อย่างไรว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ถ้าไปดูที่อื่น

ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่า ศีลนี่เป็นตัวบ่งบอกกรอบมรรคเลย ...การละสังโยชน์ การถอดถอนสังโยชน์...สังโยชน์แปลว่ากิเลสที่ร้อยรัดกายใจ

กิเลสที่ร้อยรัดหรือปกคลุมกายใจ มี ๑๐ ลำดับ รายละเอียด หยาบ กลาง ละเอียด เบื้องต้นเบื้องหยาบ ๓ เบื้องกลางอีก ๓ เบื้องปลายอีก ๔ เป็น ๑๐ คือกิเลสที่ร้อยรัดปกคลุมกายใจ

สังโยชน์เบื้องหยาบเบื้องต้น ๓ ตัวแรก กับอีก ๓ ตัวกลางนี่ เป็นเรื่องของกายล้วนๆ ใช่ไหม 

สักกายทิฏฐิ ตัวเราของเรา วิจิกิจฉา สงสัยการปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา ใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด แล้วเราจะทำยังไงดี เห็นมั้ย สงสัย วิธีการปฏิบัติ

สีลัพพตปรามาส...กูทำอย่างนี้ถูก มันทำอย่างนี้ผิด แล้วต้องถือกี่ข้อ แล้วต้องถือวิธีการไหน  สีลัพพตปรามาส...วัตรปฏิบัติที่ลูบๆ คลำๆ เรื่องของกาย เรื่องของการปฏิบัติต่อกาย

เบื้องกลาง รูปราคะ กามราคะ ปฏิฆะ นี่ก็เรื่องของกาย ...นี่ธรรมของพระอนาคา ก็ยังวนเวียนอยู่ในกายนี้เลย 

พอละสังโยชน์ได้ ๖ เบื้องต้นเบื้องกลาง หมายความว่าแจ้งในกายแล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูงอีก ๔ อรูปราคะ อุทธัจจะ อัสมิมานะ อวิชชา

อันนี้ไม่ใช่เนื่องด้วยกายแล้ว เป็นเรื่องที่ใจ  เห็นมั้ย การที่รู้จำเพาะกายจำเพาะใจ ตรงนี้ไม่จำเพาะกายแล้ว ...จำเพาะใจล้วนๆ

สิ่งที่ห่อหุ้มใจตอนนั้นเป็นกิเลสบางเบา กิเลสที่ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งไม่เนื่องด้วยรูป ไม่เนื่องด้วยกาย เพราะมันแจ้งกายแล้ว ...ตรงนี้ที่เรียกว่าศีลละเอียด ตรงนี้ที่เรียกว่าศีลประณีต

ศีลของพระอริยะขั้นสูง ก็ไม่ได้ออกนอกศีลสมาธิปัญญาอีกเช่นเดียวกัน ...นี่ ท่านขัดเกลาตั้งแต่กายมาตามลำดับ จนมาถึงที่สุด ขัดเกลาใจ ให้คงความบริสุทธิ์วิมุตติ

แสดงธาตุแท้ธรรมแท้ ตั้งแต่กายเป็นต้นมา จนแท้จริง ชัดเจน สว่าง ไม่มีมลทิน สังโยชน์ร้อยรัดหมดสิ้น ชัด ไม่มีตรงไหนเป็นเราเลย...ชัดมาก มีแต่มัน ไม่ใช่เรา

มีแต่ธาตุ มีแต่การรวมตัวประชุมกันของธาตุ มีแต่การรวมตัวประชุมกันของเวทนา ล้วนแล้วแต่เป็นธาตุ เป็นเวทนา...ล้วนๆ 

สมควรจะจบไหมนี่กับกาย...จบ จบเรื่องกายแล้ว ...แต่ยังไม่จบใจ นี่คือสังโยชน์เบื้องสูงของพระอนาคาผลขึ้นไป

เพราะนั้นเราจะไม่อธิบาย ...เพราะยังหาโสดาไม่เจอสักองค์ เข้าใจมั้ย ...อยากฟังธรรมละเอียด กูไม่สอน มีปัญหามั้ย ...เพราะมันไม่สมควรแก่ธรรม การปฏิบัติธรรมต้องสมควรแก่ธรรม

เราต้องเข้าใจตัวเราก่อนว่าเราคือใคร เรายังเป็นปุถุ แปลว่าผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ...เพราะนั้นสิ่งที่จะมาขัดเกลาปุถุจิต ต้องเริ่มตั้งแต่บรรทัดฐานแรกคือศีล ต้องสำรวมระวังในศีล เข้าใจรึยัง

ทีนี้เราเข้าใจคำว่าสำรวมระวังในศีลขึ้นมาบ้างหรือยัง ...นี่ไม่ใช่การค่อยๆ ย่องเพราะกลัวเหยียบมด โหยเดินด้วยความสำรวมศีล จะพูดก็กลัวว่าจะไปเสียดแทงเขารึเปล่า เดี๋ยวจะเป็นไม่ถูกวาจา ผิดศีล

เข้าใจไหมว่าสำรวมในศีลคืออย่างไร ...คือระวังรักษาเนื้อตัว ไม่ให้ออกนอก ลืมว่ากายนี้กำลังทำอะไรอยู่...ตรงนี้คือคำว่าสำรวมในศีล ตรงนี้ที่เรียกว่าสำรวมอินทรีย์

ตรงนี้ที่ท่านเรียกว่าอินทรียสังวร ตรงนี้ที่ต่อไปจะเรียกว่าปาฏิโมกข์สังวรศีล เอาไหมล่ะ เข้าใจไหมล่ะ ที่พระสวดปาฏิโมกข์สังวรศีลเพื่อตัวนี้ตัวเดียวนี่ รักษาศีล...เอกศีลข้อเดียวนี่ จบไหมล่ะ


ไม่เฝือแบบมานั่งไล่ฆ่ากัน ๑๕๐ กับ ๒๒๗ นี่ เสียเวลาเปล่านะ ...เอาเวลาที่ทะเลาะกันนี่ เถียงว่าศีลอันไหนถูกกว่ากันนี่...มานั่งรู้ ยืนรู้ เดินรู้ ไม่ดีกว่าหรือ...คุณโยมทั้งหลาย (โยมหัวเราะกัน)


(ต่อแทร็ก 16/33  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น