วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 16/34 (1)


พระอาจารย์
16/34 (571024B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
24 ตุลาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้น การฟังให้ดี ใคร่ครวญให้ดี ท่านเรียกว่าฟังให้ดีแล้วจะเกิดปัญญา เสร็จแล้วทีนี้ก็เอาไปใช้ ...การภาวนาไม่ขึ้นกับเวลา ไม่ขึ้นกับรูปแบบ ไม่ขึ้นกับสถานการณ์ 

ถือการภาวนาเป็นอกาลิโก ที่ไหนมีกาย ที่นั้นเป็นที่ภาวนา ...ไม่อ้างเช้า สาย บ่าย ค่ำ เย็น เหนื่อย เมื่อย หิว งานไม่เสร็จ หรือเป็นทุกข์เป็นสุขอยู่...ไม่อ้าง จะไม่อ้างอะไรเลย

ตรงไหน...ตรงนั้น ยืน..รู้ตรงยืน เดิน..รู้ตรงเดิน ...ท่าทางหยาบๆ เรียกว่าอิริยาบถใหญ่เป็นรูปทรงหยาบ ท่าทางอิริยาบถย่อย ก้ม เงย ขยับ หมุน หัน เคี้ยว กลืน กระเพื่อม กระเทือน พวกนี้อิริยาบถย่อย เป็นกายใน

ก็วนเวียนซ้ำซาก กายใหญ่ กายย่อย ...อย่าท้อถอย อย่าเบื่อหน่าย อย่าคลายจากการรักษามั่นในศีลนี้ รักษาศีลแบบไม่ดูเดือนดูตะวัน ก้มหน้างุดๆ อยู่ในกายนี้ ไม่รับรู้เรื่องราวในโลกโดยปริยาย

บอกให้เลย ถ้าผู้ใดรู้อยู่กับกายแบบก้มหน้าก้มตารู้ตัว รู้อยู่กับตัว แล้วก็ไล่จับพฤติกรรม Activity ของกายทุกกระเบียดนิ้วนะ รับรอง..เหมือนลืมโลกไปเลยว่ากูอยู่ไหน เหมือนลืมโลกไปเลยนะ

เหมือนลืมไปเลยว่ามีโลกอยู่ตรงไหนวะ ลืมไปหมด พ่อแม่ ผัวเมีย คนรักคนเกลียดคนชัง ลืมไปเลยว่ามันมีตัวตนอยู่ตรงไหน ...ลองทำดูสิ เดี๋ยวจะหาว่าโม้...ไม่ใช่ลูกศิษย์สมรักนะ (หัวเราะกัน)

ถ้าไม่ลอง ทำกันจริงๆ จะเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้ ...ให้ทำดู  แต่ว่าทำอย่างจริงๆ แล้วจะเห็นจริง จะรู้จริง จะเข้าถึงจริงๆ เข้าถึงกายจริงๆ ...เมื่อเข้าถึงกายจริงๆ แล้วจะรู้เลยว่า ที่นี้ควร ที่นี้ถูก ที่นี้ใช่

รู้จักพระยสกุลบุตรไหม ที่ว่า..."ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้อง" ...เดินร่ำร้องตะโกนอยู่กลางทางเหมือนคนบ้า แล้วก็ไปเจอพระพุทธเจ้า ท่านได้ยิน ก็ตรัสบอก "ที่นี้ไม่วุ่นวายหนอ ที่นี้ไม่ขัดข้องหนอ"

เห็นมั้ย เห็นพระพุทธเจ้าสอนมั้ย ได้ยินบ้างไหม ว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนน่ะคืออะไร ...พวกเราไม่ได้ยิน แต่พระยสะได้ยิน ก็หยุดร่ำร้องตรงนั้น เพราะท่านกลับมาอยู่ "ที่นี้" ทันทีเลย 

แล้วท่านเห็นเลยว่า “ที่นี้” ไม่มีอะไรจริง  “ที่นี้” ไม่มีอะไรขัดข้องเลยจริงๆ ...หยุด ณ ที่ตรงกำลังร่ำร้องเหมือนคนบ้าตีโพยตีพาย นี่ เจอยาของพระพุทธเจ้าคำเดียวชะงักงันไปเลย

แต่เหล่าพวกเรานี่...มันเกิน "นี้" ไปหลายขุม ...แล้วยังไปเข้าใจว่าในที่นั้น ในที่ต่างๆ จะมีธรรมแฝงอยู่หรือไง จะมีความเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานแฝงอยู่หรืออย่างไร

ต้องไปเรียนธรรมกับพระยสะนะ ท่านฟังคำเดียว พระพุทธเจ้าพูดตรัสคำเดียว หยุดทันที ...เอ้า ถ้าไม่เชื่อ ฟังเรื่อง...องคุลีมาล ไล่ฟันแม่ พระพุทธเจ้าไปขวาง ก็วิ่งตามพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าท่านเดิน องคุลีมาลวิ่ง แล้วบอก “สมณะๆ หยุด” ...พระพุทธเจ้าหันกลับมาตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด” ...เคยได้ยินบ้างไหม

ด้วยคติธรรมบทนี้ พุทธพจน์บทนี้ พุทธวัจนะบทนี้...องคุลีมาลหยุดตรงนั้นเลย ทิ้งดาบวางดาบ ดวงตาเห็นธรรมเกิด ณ ที่นั้น ...คำว่าดวงตาเห็นธรรมคืออะไร โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล

เผอิญว่าลืมไปถามพระองคุลีมาลตรงนั้น ว่าสมาทานศีลกี่ข้อ (หัวเราะกัน) ...นั่น พอวางดาบก็สำเร็จเลย เอ๊ะ งง ยังไม่ได้ทันสมาศีลหรือเปล่า แต่ทำไมหลุดพ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา

และจากนั้นท่านก็มาพากเพียรดำเนินต่อในองค์มรรค จนถึงที่สุดแห่งมรรค ...ท่านเดินบิณฑบาตทุกวัน หัวแตกทุกวัน โดนไม้ไล่ตีทุกวัน  อดเอาทนเอา ถือว่าเป็นวิบากกรรม ที่เคยทำไม่ดีกับผู้อื่น

ทั้งที่ไม่ได้เจตนาเลย การฆ่าขององคุลีมาลนี่ไม่มีเจตนาในการที่จะเบียดเบียนเลย ...เพื่อนิพพานนะนั่นน่ะ เพื่อนิพพานขององคุลีมาล...เพราะถูกหลอกลวง นั่น

ขนาดนั้น ตลอดสายแห่งการดำรงคงเพศเป็นบรรพชิต สมณะเพศ  ไม่มีวันไหนที่องคุลีมาลไม่เจ็บปวดจากการทุบตี ...เห็นมั้ย ท่านยังต้องชดใช้กรรมขนาดนั้น

แต่ท่านถึงธรรม ท่านรู้ธรรม ท่านถือว่าตีโดนกาย ไม่โดนเรา ...เออ เอาดิ ถ้าเป็นพวกเราคงทนไม่ได้ ใช่มั้ย มีสวนแล้ว มีสวน (หัวเราะกัน) ถ้าไม่ได้สวนด้วยมือหรือหมัด ก็สวนด้วยปาก อาวุธยาว ด่าคืน อะไรประมาณนี้

เห็นมั้ย ถ้าเรามาฟังดีๆ ด้วยความเป็นกลาง แล้วก็การตีความที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไร  ก็จะเข้าใจหลักการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าอย่างตรงไปตรงมา ...พระพุทธเจ้าท่านสอนอะไรตรงๆ ไม่ได้อ้อมค้อมเลย

แต่ด้วยความที่พวกเรานี่เป็นผู้เรียนรู้สูงเหลือเกิน ...มันคิดมาก คิดลึก ซับซ้อน หลายเลเวล หลายเลเยอร์ ...การปฏิบัติมันจึงเกิดความซับซ้อนขึ้น เกิดความวกวนขึ้น

เห็นมั้ยว่ากิเลสน่ะ มันมาสร้างภาพลู่ทางการปฏิบัติ โดยการปรุงแต่ง ...เพราะนั้นยิ่งซับซ้อนขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งออกห่างจากความเป็นจริงขึ้นเท่านั้น

ทีนี้พอซับซ้อนแล้ว พอให้กลับมาอยู่กับความเป็นจริง มันยังขาสั่นๆ อยู่ ..."เอ๊ ไอ้ที่กูทำนี่มันจะใช่หรือวะ" (หัวเราะกัน) ...ต้องหาคนรับรอง ต้องคอยหาคนรับรอง

ไอ้คนนั้นก็รับรองแล้ว ฮื้อ มันจะใช่เหรอ ดูหน้ามันแล้ว ถ้าให้ตีราคาประมาณห้าบาท หรือไอ้นั่นตีราคาก็เกินบาท ไม่เต็มบาท มันก็...หาเท่าไหร่ไม่ถูกใจ "เรา" สักที

มันเลยกลายเป็นผู้ภาวนาค้นหาธรรม เลยกลายเป็นชื่อว่า "ผู้ภาวนาหาธรรม.. วงเล็บ..ไปเรื่อย" (หัวเราะกัน) ...เหล่านี้คือความเนิ่นช้าหมดเลย

แต่การภาวนาจริงๆ คือเป็นผู้ที่รู้ธรรม อยู่กับธรรม เป็นผู้ที่เห็นธรรมตามจริง เป็นผู้ที่ยอมรับธรรมตามจริง เป็นผู้ที่อยู่กับธรรมตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่เผชิญกับธรรมตามจริง

คำว่าเผชิญนี่หมายความว่า ธรรมนั้นน่ะเป็นสิ่งที่ยังทนได้ยาก เพราะมี "เรา" ยึดมั่นถือมั่นอยู่ ...ท่านก็เผชิญกับธรรมที่ว่าเป็นธรรมที่ทนได้ยากนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการทางกาย เช่นเมื่อย ปวด ทรมาน

นี่คือสภาพที่ต้องเผชิญ เพราะทนได้ยาก รวมถึงสภาวะเหตุการณ์รอบข้างที่กระทบกระเทือนจิตเรา คนร้ายคนไม่ดีแล้วมาว่า มากระทำเหตุแก่เรา ให้เกิดความทุกข์ทรมานขึ้น

ก็ต้องเผชิญกับสภาพนั้น โดนไม่แก้ไม่หนี ...นี่เรียกว่าต้องเผชิญกับธรรมนั้นๆ จนกว่าจะลุล่วงในธรรม...คือเข้าใจด้วยปัญญา แล้วข้ามธรรมนั้นไป ด้วยความเป็นกลาง ถ่องแท้ เข้าใจ

ท่านไม่เคยให้หนี ท่านไม่เคยให้แก้อะไร...แต่ท่านให้เผชิญกับธรรมตรงๆ  ไม่มากกว่านั้น ไม่น้อยกว่านั้น ...ตรงๆ คือยังไง ...คือพอดีๆ พอดีที่มันกำลังแสดง

เพราะนั้นการที่รักษาความที่ไม่เข้าไปเกี่ยวเกาะ เปลี่ยนแปลง แก้ไข ต่อเติม ลด เพิ่ม กับธรรมที่ปรากฏเบื้องหน้านี่ ...ตรงนี้ที่เรียกว่าทรงไว้ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทา หรือดำเนินอยู่บนความเป็นกลาง

ไม่เข้าไปออกความเห็น ไม่เข้าไปมีความเห็น ไม่เข้าไปใช้การกระทำคำพูดตามความเห็น ...ตรงนี้จึงเรียกว่าอยู่ในหลักของมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยความพอดีแก่ธรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าเอาธรรมสะเปะสะปะมาเป็นมัชฌิมาในเบื้องต้น จะไม่ได้ ...จะต้องถือกายนี่ ให้เป็นที่ดำรงคงอยู่ของมัชฌิมาก่อน 

กายยังไง...รู้อย่างงั้น  ตึง..รู้ มาก..รู้ น้อย..รู้ ไม่หาย..ก็รู้ ทนไม่ได้กับมัน..ก็รู้ว่าทนไม่ได้ ...อดเอา


โยม –  ตอนนี้อดไม่ได้ ...เหมือนกับแต่ก่อนเป็นคนที่ขี้เกรงใจน่ะครับ บางทีใครทำอะไรอย่างนี้ จะเงียบไม่ตอบโต้ ไม่อะไรอย่างนี้ ...แต่ตอนหลังๆ นี่รู้สึกจะพูดออกไป

แต่รู้นะครับ  เวลามีใครมากระทบอย่างนี้ จะสวนออกไปทันทีเลย แต่พอสวนก็รู้ ...แต่ทำไมเดี๋ยวนี้ทำไมจิตใจมัน...แต่ก่อนจะไม่ค่อยพูดน่ะครับ เดี๋ยวนี้มันพูดมาก

พระอาจารย์ –  แปลว่าศีลเสื่อมลง เราต้องกลับมาเข้มงวดในศีลมากขึ้น ...ศีลคืออะไร กลับมารู้ตัวให้เร็วกว่านี้ แล้วกล้าที่จะละการตอบโต้ในจิต

เพราะลักษณะของจิตนี่ มันจะเป็นลักษณะแบบ Action กับ Reaction ...ถ้ามันมี Action ใดมา มันจะมี Reaction กลับ...อันนี้โดยสันดานเลย

แต่คราวนี้การฝึกศีลสมาธิปัญญา บ่มศีลสมาธิปัญญา อบรมศีลสมาธิปัญญาอยู่เสมอนี่...มันมาเพื่อใช้ในการนี้ ...เข้าใจมั้ย การที่ว่าเราจะเจอ Action อะไรนี่ เราไม่รู้หรอกๆ

เราไม่รู้เลยว่าวันนี้จะเจออะไร มันจะมี Action อะไรมากระทบกายกระทบจิต ...แต่ด้วยการที่ว่าฝึกสติศีลสมาธิปัญญาไว้อยู่เสมอนี่ พอมันมากระทบแบบไม่ได้รู้ล่วงหน้ามาก่อน

แต่จิตที่มันอยู่ในฐาน เคยอยู่ในฐาน ฝึกฐานไว้ด้วยความแม่นยำชัดเจนในปัจจุบันนี่ ...มันก็จะเห็นทัน ตั้งแต่จิตแรกที่เกิด Reaction ...อันนี้ห้ามไม่ได้อยู่แล้ว 

เพราะเรายังมีกิเลส...ต้องยอมรับก่อน เรายังมีกิเลสทุกผู้คนเลย  ยังไงๆ ต้องมี Reaction ...อันนี้คือความจริงนะ ไม่ใช่ผิดนะ เราไม่เรียกว่าผิด

แต่เราจะมาเรียกว่าผิดต่อเมื่อ...ไม่เท่าทันมัน เราจะเรียกว่าผิดต่อเมื่อ...เข้าไปผสมกลมกลืนกับมัน เราจะเริ่มเห็นว่าผิดต่อเมื่อ...เข้าไปปรุงต่อแต่งเติมกับมัน

ไอ้นี่ถือว่าเกินศีลไปไกล เกินศีลไกลเลยนะ ...แต่ไอ้การที่ว่า..ไม่ใช่ว่าศีลมีแล้วนี่มันจะห้ามจิตเหล่านี้ได้ ห้ามไม่ได้หรอก ตราบใดที่ยังมีกิเลสเป็นตัวผลักดันอยู่ภายใน

แล้วเราก็ไม่ต้องการให้ห้ามด้วย ...แล้วเวลามันเกิดขึ้นมาแล้วทัน ก็เห็นมันทัน แล้วมันก็ดับไป ...อย่าเสียใจ เอ๊ะ ทำไมยังมีอารมณ์นี้อยู่ ...ก็มันต้องมี

มันต้องมีๆ เพราะ "เออ กูไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไงก็ต้องมี" (หัวเราะกัน) เข้าใจมั้ย ...อย่าคร่ำครวญ อย่าตีอกชกหัวตัวเอง อย่ามาปริเทวนาโศกาว่า "กูไม่ดีๆๆ"

นี่คืออีกจิตหนึ่งมันกำเริบมาแล้ว เห็นรึเปล่า มันสร้างอารมณ์มาหลอกให้เกิดความท้อถอยในมรรค ให้เกิดความท้อถอยในศีล ให้มาตัดรอนศีลสมาธิปัญญาของตัวของเจ้าของอีกแล้ว

ก็ให้ทัน ...ช่างหัวมัน แล้วไปแล้ว อย่างน้อยกูก็ไม่ได้ไปทำตามอารมณ์ล่ะวะ ใช่มั้ย ไม่ได้พูดไปตามอารมณ์  มันก็มีอารมณ์แล้วก็ดับ ...นี่แหละถูกแล้ว


(ต่อแทร็ก 16/34  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น