วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/30


พระอาจารย์
16/30 ( 571005C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
5 ตุลาคม 2557 



พระอาจารย์ –  เพราะนั้นถ้าเพียรเพ่งลงที่กาย รู้เห็นแต่จำเพาะกายจริงๆ นี่ ...มันจะเห็นขันธ์ห้าเกิดดับ และก็จะเห็นว่าขันธ์ห้ามันเกิดที่ไหน เกิดจากอะไร นี่...ขันธ์ห้าเกิดมาจากจิตปรุงแต่ง

แต่ถ้าไปดูขันธ์ห้าเกิดดับ จะไม่เห็นกายตามความเป็นจริง จะไม่รู้จักกายตามความเป็นจริง ...ซึ่งกายตามความเป็นจริง ใจตามความเป็นจริงนี่ คือแก่น แก่นของขันธ์ห้า

คือมันเป็นตัวอ้างอิงของกิเลส ที่มันจะสร้าง...อาศัยกายใจนี่เป็นตัวอ้างอิงไปสร้างขันธ์ห้า ...เพราะนั้นถ้าไปดูขันธ์ห้าเกิดดับ มันก็ไม่มีการที่จะถึงที่สุดของขันธ์ห้าเกิดดับ ที่ว่าดับโดยสิ้นเชิง

มันจะดับได้ยังไงโดยสิ้นเชิง ...เพราะมันยังไม่รู้เลยว่าต้นตอของขันธ์ห้านี่ มันมาจากอะไร มันอ้างอิงอะไรเป็นการสร้างขันธ์ห้าขึ้นมา รูปเวทนาสัญญาสังขาร มันอ้างอิงอะไร

เนี่ย มันก็บอกตั้งแต่ต้น ตั้งแต่หัวข้อแรกแล้วว่า... “รูป”  ...รูปมันอ้างอิงกับอะไร ...มันอ้างอิงจากกาย การดำรงคงอยู่ของกาย...นี่ มันอ้างกาย

กิเลสมันอ้างกายขึ้นมาเป็นรูปลักษณ์ สถานะ วรรณะ สัณฐานขึ้นมา ...พอมีรูปปุ๊บนี่ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พรึ่บ นี่ขันธ์ห้าเกิดแล้ว...โดยอ้างอิงกายเป็นหลัก

แต่ถ้าไปดูขันธ์ห้าเกิดดับ ดูขันธ์ห้าเกิดดับ  แต่ไม่รู้ว่าต้นตอของขันธ์ห้านี่มันมาจากไหน ...จิตมันก็ยังอาศัยขันธ์ห้านี่เป็นเครื่องมือในการก่อร่างสร้างกิเลส

นั่น ความต่อเนื่อง ความสืบเนื่องในขันธ์ห้า ไม่มีคำว่าทุเลาเบาบางลงเลย ...เพราะนั้นมันต้องมาแก้ที่เหตุ หรือว่าต้นตอของขันธ์ห้า นี่...มันจะหนีพ้นกายใจได้ยังไง

จนกว่ามันจะรู้จริงรู้แจ้ง...ว่ากายคือสักแต่ว่ากาย กายคือสักแต่ว่าการรวมตัวกันของธาตุ กายคือสักแต่ว่าสภาวะธาตุ สภาวะเวทนาที่เป็นเอกภาพเอกธรรม อิสรภาพอิสระธรรม ไม่ได้ขึ้นแก่ใครแล้ว นั่นแหละ มันจึงจะเข้าใจ

ทีนี้กิเลสมันจะมาหลอกลวงสร้างกาย...สร้างรูปมาจากกายที่เป็นเราได้อย่างไร ขันธ์ห้ามันจะเกิดได้อย่างไร นี่ ...ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันตาย ขันธ์ห้าก็ดับก่อนแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าขันธ์ห้าเป็นของว่าง ...แล้วนอกจากว่างแล้ว ยังไม่มีขันธ์ห้าในเรา ยังไม่มีเราในขันธ์ห้าอีกด้วยซ้ำ ...และยิ่งกว่านั้น ท่านยังบอกว่าโลกสามโลกธาตุนี่ว่าง เป็นสุญโญ

เพราะนั้น กายใจที่เดียวนี่จบหมดน่ะ...ทำให้มันได้เหอะ ทำให้มันจริงเหอะ ...แล้วก็จริงๆ จังๆ ลงไป เอาแบบว่าเก็บมันทุกเม็ดเลยน่ะ ไม่เอ้อระเหยลอยชาย

แบบภาษาที่เขาว่า อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล ...อย่าปล่อยให้กิเลสมันลอยนวล อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว อย่าปล่อยจิต อย่าอยู่แบบเลื่อนๆ ลอยๆ ...เหนื่อยก็ต้องเหนื่อย ยากก็ต้องยาก

แต่ละท่านแต่ละองค์ที่ท่านฝ่าฝันกิเลสมานี่ เลือดตาแทบกระเด็นทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครสำเร็จมรรคผลแบบบนฟูกหรอก บนความมั่งมีดีสุข...ไม่มีอ่ะ

โดนกระหน่ำมาย่ำยีมาทั้งนั้น ด้วยอำนาจกิเลสทั้งภายในและภายนอก ท่านก็บากบั่นฝ่าฟันกันมา...มาจนถึงมรรคจนถึงผล ตามลำดับของการพากเพียรของท่านนั้นๆ

เพราะนั้น อย่าไปลังเลสงสัยในมรรค อย่าไปลังเลสงสัยในศีล ...ว่าจะถึงไหมหนอ ว่าจะได้ไหมหนอ  นี่คือจิตส่งออกนอกน่ะ (เสียงโยมหัวเราะ)

ถ้าออกนอกกายเมื่อไหร่มันต้องคิด ถ้าออกนอกกายเมื่อไหร่มันจะต้องหา ...สันดานไม่ดี สันดานกิเลสจะเป็นอย่างนี้  ถ้าออกนอกกายเมื่อไหร่ ไม่คิดก็ต้องหา ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งล่ะวะ

และไอ้ที่มันหา...ก็ไม่รู้จะเจอกันรึเปล่านะ ทั้งในชาติปัจจุบัน และในชาติข้างหน้าด้วยนะ นี่ มันหาไปถึงชาติหน้าด้วยนะ...ใช่มั้ย (หัวเราะกัน)

แต่ถ้ามันมีกายใจเป็นเครื่องกำหนดไว้ เป็นเกราะกั้นไว้นี่ การคิดการหาจะน้อยลง ไม่ค่อยมีช่องทางให้มันค้นหาเท่าไหร่ ...เราถึงบอกว่า ถ้ามันอยากค้นนะ ให้ค้นลงที่กาย ค้นไปตามตีนมือแขนขาหน้าหลัง

อยากค้นดีนัก ให้มันค้นไป ไล่ความรู้สึกในกองกายไป นั่น...แต่มันไล่กันไม่ถึงรอบก็เบื่อแล้ว ไล่สองรอบ..แทบตาย  สามรอบ...ไม่ไหวแล้ว ...เห็นมั้ย ความเพียร เนี่ย ความเพียรขนาดไหน

เวลาเราเดินจงกรมรอบหนึ่งนี่ เราทวนกายได้หัวจรดตีนนี่ไม่รู้กี่พันครั้ง ไวมาก ทุกการก้าวเดินนี่ พิจารณาตลอดหัวจรดเท้าน่ะ ...ไม่ได้พิจารณาด้วยความคิดนะ

พิจารณาโดยจิตนี่เคลื่อนขึ้น-ลง แบบมองผ่านกายอยู่ตลอด ขึ้น-ลงๆ นี่ ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันรอบในการเดินจงกรมรอบหนึ่งๆ จนจิตนี่มันเหนื่อยล้าอ่อนแรง ไม่ไปไม่มาเลย

มันอยู่เลย อยู่กับกายทั้งก้อนอย่างนั้นเลย เอามันจนเหนื่อยเลย ขึ้น-ลงๆๆ ...นี่หยุด ไม่มีที่ให้มันไปเลย ...มันอยากไปดีนักนี่ จนมันเหนื่อยน่ะ ไม่มีที่ให้มันไป


โยม –  ด้วยความรู้สึกน่ะหรือเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  ไล่ความรู้สึก เท้าจรดหัว..หัวจรดเท้านี่

เพราะนั้นการเดินนี่ ดีกว่าการนั่ง มันมีการปรากฏของกายในความรู้สึกอย่างชัด ...แต่ไม่สนับสนุนให้ยกมือเป็นหุ่นยนต์ มันจะเป็นแพทเทิร์น

เดินจงกรม เดินอยู่ในอิริยาบถเดินธรรมดา ไม่ต้องแบบสำรวมเพ่งอะไร เดินธรรมดา ...แต่อย่าเงยหน้า เพ่งมองต่ำ เพราะว่าต้องสำรวมตา ตานี่ต้องสำรวม ถ้าเงยหน้านะ...เสร็จ


โยม –  ไปเลยฮ่ะ ล่อกแล่กเลย มันรุ่ยหมด

พระอาจารย์ –  มองทอดสายตาลงต่ำประมาณศอก-สองศอกนี่ แค่นี้  แล้วก็เดินไป กึ่งเร็วกึ่งช้า ไม่รีบแล้วก็ไม่เร่ง แล้วก็ไม่ช้าจนแบบว่า ยกย่างเหยียบๆ อย่างนั้นไม่ต้อง ...ให้มันเป็นธรรมชาติธรรมดา


โยม –  สติธรรมดาของเรา

พระอาจารย์ –  แล้วก็เอาความรู้สึกนี่ไล่ เอาจิตนี่มาไล้...ไล้ไปตามความรู้สึกในตัว เบาๆ  ไม่ต้องรีบเร่ง ไม่ต้องเร่งรัด เบาๆ เหมือนลูบ ...ลักษณะเอาจิตไปรู้สึกตัวนี่ เหมือนเอามือไปลูบ

ลูบอย่างนี้ ใช้จิตลูบไล้ คลอเคลียอยู่ในความรู้สึก เบาๆ ...อย่าเอาแรง อย่าเอาแบบเอาเป็นเอาตาย เอาทีเดียวให้อยู่ อย่างนี้...ไม่ได้ เครียด เคร่ง แล้วจะปฏิฆะ โทสะ

ลูบไล้ธรรมดา แล้วมันจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเอง ...อย่ารีบรัด อย่าเร่งรัด ทำให้มันเป็นธรรมชาติที่สุด  แล้วก็ไม่ต้องตั้งเวลา อย่าตั้งเวลา เดินไป อย่าตั้งเวลา

เดินไป เมื่อยก็เดินไป ต่อไป ไม่ต้องรีบ ...คอยสังเกตจิตที่มันจะชักนำให้ออก แล้วก็รีบละเลย ตัดไม่เอา ไม่ต้องไปคิดต่อๆ แล้วก็มาลูบไล้ อดทนไป

พอถึงจุดที่มันจะหยุด ที่มันจะเลิก มันจะมีจุดของมันเอง... ให้มันถึงจุดนั้นก่อน พอถึงจุดนั้นปึ้บนี่ ศีลสมาธิปัญญาจะอยู่ หมายความว่าเลิกแล้ว ความรู้สึกกับตัวก็ยังอยู่ ยังคงอยู่

แล้วก็ค่อยๆ สำรวมรักษาอิริยาบถ เดินไปที่นั่นที่นี่ เดินไปขึ้นนอน ทำกิจธุระอะไรก็ได้


โยม –  ใช่ค่ะ มันจะติดออกไป

พระอาจารย์ –  มันจะอย่างนั้น แล้วต้องรักษาไว้ตลอด แล้วก็เพียรทำอย่างนี้ ให้ต่อเนื่อง ไปจนถึงนอนหลับเลย ...แล้วก็ไปพักตอนที่หลับ ตอนที่หลับมันค่อยพัก หมายถึงพักการเจริญศีลสมาธิปัญญา

เนี่ย ถ้าทำได้เป็นวัตร เป็นวงกลมอยู่อย่างนี้ จิตมันไม่มีทางไปไหนหรอก ...แล้วมันก็จะยินยอมพร้อมใจอยู่กับความมีเนื้อมีตัว อยู่กับเนื้อกับตัว โดยความที่ว่าไม่ต้องบังคับกดข่มมาก

เพราะนั้น อย่าไปหมดเวลากับการคุย การรับรู้เรื่องราวต่างๆ  เข้าใจมั้ย...สู่รู้น่ะ การสู่รู้น่ะ การช่างซักช่างถามความเป็นไปของสัตว์บุคคลนี่ ...นี่คือคำว่าสู่รู้

เรียกว่า...อยู่ดีๆ หาเหาใส่หัว เข้าใจมั้ย ...ไม่รู้เรื่องอะไรเลย กับการที่รู้เรื่องนี่ มันมีอารมณ์ มันไปแบกอารมณ์เข้ามาไว้แล้ว มันไปแบกอะไรต่ออะไร

กับการที่ปฏิเสธ ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องไปอยากรู้อะไรเลยนี่ ...มันง่ายต่อการที่จะไม่ต้องไปเสียเวลาชำระขัดเกลา สิ่งที่รับรู้ เสือกไปรู้ อยากไปรู้ แล้วไปรู้มานี่ ...มันจะเก็บไว้หมดเลย

เพราะนั้น อยู่แบบหูหนวกตาบอด ...เวลาเขาพูดอะไร ใครทำอะไรนี่ อย่าแส่ออก อย่าให้จิตมันวิ่งไปจับ หรือว่าพากายใจไปตั้งอกตั้งใจฟัง ตั้งอกตั้งใจวิเคราะห์กับเขาอย่างนี้...เสร็จ

เพราะเราอยู่ในโลกที่มันแวดล้อมด้วยข้อมูลข่าวสาร และไวมาก  โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค อินเตอร์เน็ท ...ถ้าได้เข้าเน็ทนี่ มันหายไปเลย กายใจนี่จะอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าล่องลอย มันถูกลบล้างไปเลย


โยม –  ใช่ฮ่ะ มันหายไปเลย

พระอาจารย์ –  มันลบล้างไปเลยน่ะ ...ไม่มีตัวนั่ง ไม่มีตัวมอง ไม่มีตัวมือตัวแขน ไม่มีอะไรเลย  มันถูกเลือน มันถูกลบไปจากระบบเลยน่ะ


โยม –  เพาเวอร์แมนเลยฮ่ะ

พระอาจารย์ –  เพาเวอร์แมนยังขายได้เงินน่ะ ...ไอ้นี่มันไม่ได้อะไร กิเลสเต็มๆ น่ะ


โยม – (หัวเราะกัน)...แถมได้โมหะกลับมาเพียบเลย

พระอาจารย์ –  แล้วมันยังไปเก็บเกี่ยวขยะเข้ามาอีกเท่าไหร่ ความเป็นไปของดารา ความเป็นไปของคนที่เป็นไอดอลของเรา หรือให้ติดตามผลงาน หรือให้ติดตามรับรู้กับเขานี่

มันยังเก็บมาไว้ แล้วก็มาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวใหญ่โตมากมาย ถึงเนื้อถึงตัวเรายังไง เราจะได้อย่างงู้นอย่างงี้ โอ้ย เพ้อเจ้อ ...ไม่ต้องถามหากายใจตรงนั้นนะ หมดสิทธิ์ บอกให้เลย

ถึงบอกว่า นานวันต่อไปในโลก คนในโลกยุคต่อไปนี่ ...การเดินบนมรรค การอยู่ในมรรค การเข้าถึงมรรค จะยากขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่ของง่ายเลย

ทั้งๆ ที่ว่ามรรคมันมีอยู่แล้วนี่ แต่การที่จะไปยืนดำรงบนเส้นทางแห่งมรรค บนกายใจปัจจุบันนี่ ยากยิ่งกว่ายาก ...เหมือนเดี๋ยวนี้ในปัจจุบันนี่ ถ้าเทียบกับร้อยปีก่อน ก็ยากยิ่งกว่าเมื่อร้อยปีก่อนอีก

เพราะนั้น เมื่อรู้แล้ว...ข้อสอบคืออะไร คำเฉลยข้อสอบคืออะไร  ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าต้องตั้งใจกามัน ...แล้วไม่ใช่แค่เข้าใจไปกาครั้งเดียวแล้วก็เลิก กาแล้วต้องคาไว้เลย

ไม่งั้นน่ะมันจะไปติ๊กข้ออื่น ไปเอาเรื่องที่อื่น มาเป็นเรื่อง แล้วมันจะไม่มีคำว่าจบเรื่องเลย ...เพราะนั้นมันต้องกาอยู่ตรงนี้เลย จรด..จรดไว้เลย เอาจิตน่ะมาจรดไว้อยู่ตรงนี้เลย จรดไว้เลย

เพ่งก็เพ่งล่ะวะ คร่ำเคร่งก็ต้องคร่ำเคร่งล่ะวะ เครียดก็ต้องเครียดล่ะวะ  ดีกว่าหลงน่ะ ดีกว่าหายน่ะ ...เครียดอยู่ในกาย ดีกว่าไปเครียดเรื่องกายคนอื่นน่ะ เอาป่าวล่ะ

ก็ต้องเครียดน่ะ ...เพราะมันจะออกจากทุกข์ได้นี่ มีช่องเดียวเท่านั้น นี่ มีช่องเดียวเท่านั้น ไม่มีช่องสำรองเลยน่ะ ...ตายตัว มรรคผลนี่ตายตัว ขาดตัวเลย ไม่มี choice ABC


โยม –  ไม่มีตัวเลือก

พระอาจารย์ –  ไม่มีตัวเลือกอื่นเลย 

เพราะนั้นใครจะพยายามดัดแปลงแก้ไขศีลสมาธิปัญญา ให้เป็นไปตามอย่างกิเลสน่ะ อย่าไปเชื่อนะ ที่พยายามจะอธิบายให้มันใกล้เคียงกับความคิดความเห็นของผู้นั้นผู้นี้ 

อะไรที่จะให้มันเบี่ยงเบนออกจากกายใจนี่ ให้รู้ไว้เลยว่า อย่าไปหลงคารมนั้น อย่าไปหลงโวหารนั้น โดยอ้างอิง...พวกนี้ส่วนมากจะอ้างอิงภูมิธรรมมารองรับ

ก็ดูลูกศิษย์หลวงปู่มั่นทั้งหมดนี่ มีใครประกาศภูมิธรรมตัวเองบ้าง มีอยู่องค์เดียวที่ประกาศอย่างชัดเจนคือหลวงตาบัว เห็นมั้ย นอกนั้นไปถาม ไปบีบคอบังคับท่านนี่ ว่าท่านเป็นอะไร ไม่มีใครพูดหรอก


โยม –  ของแท้ท่านไม่พูด

พระอาจารย์ –  อือ มีใครประกาศแบบชัดเจนหรือว่าเป็นนัยยะอะไรให้ไปตีความบ้าง...ไม่มีอ่ะ  มีแต่ท่านจะปฏิเสธอย่างเดียวแล้วก็ถ่อมตน จะอยู่ด้วยความถ่อมตน

ครูบาอาจารย์บางท่านนี่ ไปกราบไปเจอท่านนี่ เวลาถามพรรษากันน่ะ ท่านน่ะประมาณสักสี่-ห้าสิบพรรษา ท่านยังบอกเลย..."ผมยังเป็นผู้น้อยอยู่"

นี่ ท่านพรรษาเท่าไหร่ ท่านยังอยู่ด้วยความถ่อมตนถึงขนาดนั้น เข้าใจมั้ย  เวลาไปถามท่านนี่ ท่านว่าพรรษาผมยังน้อยอยู่ ยังอ่อนอยู่ ...อ่อนอะไร สี่สิบ-ห้าสิบพรรษาเข้าไปแล้ว

เพราะนั้นการกราบนอบไหว้กับท่านนี่ ยิ่งแนบสนิท ...นี่คือผู้มีธรรม ท่านอยู่ด้วยความเสมอตัวหรือถ่อมตัวอยู่ตลอด ไม่โอ้อวด ไม่แอบอ้างพระพุทธเจ้า ว่าเสมอเท่าพระพุทธเจ้า...นี่ยังไม่เคยเลย ไม่มีหรอก

แล้วแต่ละท่าน แต่ละองค์ ไม่เคยสอนอะไรที่มันพ้นจากกายใจเลย บอกให้เลย ...นี่ จนท่านเรียกว่าเป็นธรรมเนียม จนท่านเรียกว่าเป็นอริยประเพณีแล้ว

ท่านรักษากายรักษาศีลนี่ จนเป็นอริยศีลแล้ว ...ไม่ใช่แอบอ้างศีลมาเป็นเครื่องมือของกิเลส  แต่ท่านรักษาศีลเพื่อเป็นเครื่องมือทำลายล้างกิเลสตัวท่านเอง ไม่ใช่เอาศีลเป็นเครื่องมือทำลายล้างกิเลสคนอื่น 

ไม่ใช่เอา ๑๕๐ มาอะไรบ้าบอคอแตก


โยม –  โยมเคยฟังครั้งนึง ตอนสมัยที่ใหม่ๆ โยมมีความรู้สึกเหมือนท่านอ่านหนังสือให้ฟัง ตอนท่านเทศน์

พระอาจารย์ –  มันก็ธรรมดา ตามพุทธวัจนะ


โยม –  โยมก็ไม่เข้าใจ แต่ก็มีคนถามคำถามอะไรอย่างนี้

พระอาจารย์ –  มันไม่ใช่เป็นธรรมที่มาจากใจที่รู้จริงรู้แจ้ง แต่เป็นธรรมที่มาจากวัจนะ ...ก็ถูกไม่ใช่ผิดนะ 

แต่มันไม่ได้เป็นธรรมที่มาจากใจที่แท้จริง ที่เห็นจริง ที่รู้จริง ที่เข้าถึงจริง ...เพราะนั้นอรรถรสมันไม่เหมือนกัน ยังไงก็ไม่เหมือน


โยม –  ค่ะ ใช่ มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก

พระอาจารย์ –  เอ้า พอ ...ไป ไปตั้งเนื้อตั้งตัว ไปตั้งกายตั้งใจ ...ถ้าตั้งไม่ได้มันก็ล้ม  ถ้าตั้งได้ ตั้งกายได้ มันก็ตั้งใจได้ ...ใจก็ตั้งกายก็ตั้ง ต้องคอยตั้งอยู่ตลอด เพราะมันจะล้มอยู่เสมอ


โยม –  ใช่ฮ่ะ ต้องฝืนต้องทวน ตลอดเลยฮ่ะ

พระอาจารย์ –  อย่าไปทำเป็นตุ๊กตาล้มลุก ...แต่เอาเหอะ ล้ม-ลุก...ก็ยังดีกว่าล้มแล้วไม่ลุก


..................................




วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 16/29 (2)


พระอาจารย์
16/29 ( 571005B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
5 ตุลาคม 2557 
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 16/29  ช่วง 1

โยม –  ก็พยายามกลับมาที่ตัวบ่อยๆ ...นี่ก็หืดขึ้นคอมากเลยพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็หมายความว่า ความเข้มข้นของกิเลสมันหนา มันแรง ...แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว พอเหนื่อยแล้วเลยก็ยอมแพ้แล้ว


โยม –  แต่หนูไม่ยอมแพ้นะคะ

พระอาจารย์ –  คืออย่าพัก เหนื่อยก็ทำ ไม่เหนื่อยก็ทำ ดันทุรังกันไปมาอย่างนี้ ...ดันทุรังกับกิเลสนี่ ไม่ต้องถามถึงชนะหรอก แพ้มันตลอด เข้าใจรึเปล่า รู้สึกว่าแพ้อยู่ตลอด...ก็ต้องทำ อย่างนั้นน่ะ

ไม่มีแม้แต่ว่าอิ่มใจได้ขณะหนึ่งว่า กูชนะแล้ว ยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอก ...เพราะนั้นมันจะมีความรู้สึกว่า ไม่ไหว ไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง อยู่ตลอดเลย อยู่อย่างงั้นแหละ


โยม –  ใช่ค่ะ (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  แต่อย่าหยุด ที่จะมุ่งมั่น มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการปฏิบัติ นี่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติโดยไม่หวังผล แม้ว่าผลที่ได้คือแพ้ตลอด

เพราะกิเลสมันเยอะเหลือเกิน มากเหลือเกิน ...เรื่องที่เกิดค้างไว้..เยอะแยะ  แล้วยังมีเรื่องที่ยังมาไม่ถึงอีก..เยอะแยะ  แล้วไอ้เรื่องที่อยู่ในปัจจุบันก็อีก..เยอะแยะ


โยม –  ค่ะ ยังไม่หลุดอีกเยอะเลย

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ เพราะนั้นมันดูเหมือนกับจะลืมตาอ้าปากขึ้นไม่ได้เลย


โยม –  ใช่เลยค่ะ

พระอาจารย์ –  มันก็เป็นธรรมดา ...ก็บอกแล้วว่าเวลาว่ายน้ำแล้วไม่เห็นฝั่งนี่ มันจะเป็นอยู่ในอาการนั้นน่ะ ทุกคนไป ...ไม่ว่าใคร ไม่ว่าพระอริยะองค์ไหน ท่านก็เริ่มต้นจากจุดนี้ทั้งนั้น

ต่อให้เป็นโสดาบันกลับมาเกิดใหม่ก็ตาม ท่านก็มาเริ่มที่จุดนี้เหมือนกัน ไม่มีคำว่ามีมาตรฐานดีกว่าปุถุชนเลยนะ ไม่มีภาษีดีกว่าเลยในความรู้สึกของท่าน

เพราะท่านจะลืมหมดเลย เหมือนลืมหมดเลยว่าเคยทำ เคยได้มาตอนไหน ได้อย่างไร ...ธรรมนั้นถูกกลบบังหมด ด้วยการเกิดนี่


โยม –  โห เริ่มหนึ่งใหม่หมด

พระอาจารย์ –  เหมือนกับเริ่มหนึ่งใหม่หมดทุกองค์ไป  เพราะนั้นอย่างหลวงปู่มั่น อย่างหลวงตาบัว ท่านไม่ใช่ไม่เคยผ่านเป็นโสดาบันมาก่อนนะ บอกให้เลย ไม่ใช่มาสำเร็จรวดเดียวในชาตินี้นะ

แต่ดูสิว่า ท่านพากเพียรในชาติปัจจุบัน ภพสุดท้าย ภพปัจจุบันนี้ ขนาดไหนน่ะ ...ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วจะเข้าใจในศีลสมาธิเลย ท่านยังต้องบากบั่นขนาดนั้น

มันถึงจะไปล้วงลึกถึงสิ่งที่เคยทำ..มาสนับสนุนในการทำต่อ ...เพราะนั้นพอถึงขั้นกลางขั้นปลาย จึงเร็วรวดๆๆ ...เข้าเจอมรรค เดินในมรรคเมื่อไหร่ มันรวดๆๆ รวดไปเลย

นี่ของเก่าทั้งนั้นมาสนับสนุน ภูมิธรรมในอดีตมาหมด โสดาปัตติมรรค สกิทาคามรรค...ผลมาหมดเลย


โยม –  ขนาดนั้นแล้วยังตั้งสิบเก้าปีเลยนะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้ว กิเลสไม่ใช่ของที่ละเลิกกันง่ายๆ น่ะ


โยม –  ขนาดพระอาจารย์บอกว่า อย่างกิจวัตรประจำวันที่มันซ้ำซากนี่ค่ะ อย่างนั่งกินข้าวห้านาทีสิบนาที แปรงฟังสามนาที อย่างนี้ หนูก็พยายาม 

เออ อย่างแปรงฟันสามนาทีนี่ จะพยายามจับมัน ...โอ้โห ไม่เคยอยู่ ไปอีกแล้ว  ตอนไปนี่ไม่รู้ตัวค่ะ มารู้ตัวตอนมา วุ้บ ไปแล้วๆ อยู่อย่างนี้ค่ะ ก็ดู ...อู้หู มันทวนมากๆ เลยค่ะ

พระอาจารย์ –  นี่คือความขยัน เข้าใจคำว่าขยัน ขยันหมั่นรู้ ต้องหมั่นรู้ ขยันหมั่นรู้ รู้บ่อยๆ กับกิเลสที่มันซ้ำซาก คือหลงซ้ำซาก ลืมซ้ำซาก

มันก็ต้องอาศัยภาวนาซ้ำซากเหมือนกัน ...ก็ต้องสร้างสติ สร้างการระลึกรู้แบบซ้ำซาก เพื่อมาสู้กับกิเลสที่มันซ้ำซากในอารมณ์เหมือนเดิม มันมีวิธีเดียวที่จะแก้ เข้าใจมั้ย ไม่มีวิธีอื่น

ไปนั่งหลับหูหลับตาหาป่าหาเขาที่ไหน ก็ไม่มีวิธีแก้ มันไม่มี ...มันอยู่ที่ตัวเองต้องแก้ ด้วยการเอาการปฏิบัตินี่เข้าไปแก้ในทุกอิริยาบถที่มันหลงลืม ที่มันหาย

ทีนี้จิตมันก็จะมาคอยปลอบตัวเองว่า “เออ เดี๋ยวมันก็คงดีขึ้นเอง เนี่ย ได้ฟังอาจารย์ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง คงจะช่วย” ...ช่วยอะไร ช่วยไม่ได้หรอก บอกให้เลยนะ

เพราะว่าเพียงแค่ชี้แนะ ...เราเฉลยข้อสอบให้ จากที่มันตีบตันในข้อสอบ ว่าข้อไหนถูกที่สุด เราบอกได้แค่นี้เอง ...แล้วข้อสอบนี้ก็ไม่ใช่ว่ายากเย็นแสนเข็ญอะไรเลย เป็นของพื้นๆ มีอยู่แล้วทุกคนไป

เกิดมาพร้อมกับศีลสมาธิปัญญา เกิดมาพร้อมกับหนทาง เกิดมาพร้อมกับมรรค เกิดมาพร้อมกับเส้นทางที่จะไปสู่ความหลุดพ้น มันพร้อมกันอยู่แล้วตั้งแต่เกิดเลย ...แต่ไม่เดิน

หรือไปเดินหาทางอื่น เนี่ย มันเดินไปหามรรคภายนอกนี่ วิธีการปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ มันเดินไปหาวิธี หาวิถีมรรคข้างนอก ...ก็ไม่ใช่

มันมีอยู่แล้ว...ทาง ทางเดินไปสู่ความหลุดพ้น ก็คือเดินบนท่ามกลางกายใจนี่ ...ยากก็ต้องทำ


โยม –  ความจริงหนูก็ โอ้ย คำว่า อดทน ที่พระอาจารย์บอก อดทนนะ ทำมันไปอย่างนี้ หนูถึงแบบต้องฟังซีดีพระอาจารย์ตลอดไงคะ มันเหมือนกับหนูเป็นลูกบอล แล้วพระอาจารย์เลี้ยงลูกบอล 

พอมันจะร่วงก็เตะขึ้นมา จะร่วงแล้วก็เตะขึ้นมาอย่างนี้ค่ะ ก็เลยฟังซีดีพระอาจารย์แบบคอยเตะขึ้นมาตลอด ไม่งั้นมันหมดแรง

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะ จิตมันจะพาดำดิ่งลงไปสู่ก้นบึ้งของกิเลสใหม่


โยม –  หนูรู้สึกว่า อื้อหือ มัน เฮ้อ ...แต่หนูก็ไม่ยอมแพ้นะคะ หนูก็ทำตลอด

พระอาจารย์ –  เหมือนปลาไหลน่ะกิเลส ลื่นพรึ่บ ลื่นแพลบ ไปพลอบแพลบๆ จับได้ปึ้บนี่ แพลบแล้ว มันมีช่องพรึ่บๆ


โยม –  มันก็เร็วเหลือเกิน เร็วยิ่งกว่าแสง

พระอาจารย์ –  แล้วมันคอยหาช่องทางจะไปอยู่ตลอดด้วยในตัวของมันเอง ไม่มีทางหรอกที่มันจะหาทางที่จะอยู่ด้วยตัวของมันเอง อยู่กับตัวเองนี่...ไม่มีนะ มีแต่หาทางไป ตลอดเลย

พอไปไม่ได้ มันก็จะสร้างอารมณ์เหงา..เบื่อ เหงา...เบื่อๆ อย่างเนี้ย ...กูต้องไปอีกแล้ว ต้องหาอะไรที่หายเหงาหายเบื่อทำ


โยม –  ใช่ค่ะ (หัวเราะ) เป็นอย่างนั้นจริงๆ

พระอาจารย์ –  บอกแล้ว กิเลสมันสร้างทุกรูปแบบน่ะ ที่จะให้ออกนอกศีลนอกมรรคน่ะ

แล้วเราถามว่า ถ้าไปนั่งดูจิตนี่ มันจะได้อะไร หือ เข้าใจมั้ย ...ดูจิตเป็นหลักนี่ เราบอก โอ้โฮ มันไปถึงไหนกันวะนั่น  ไม่เข้าใจหรือว่าสติปัฏฐาน ท่านวางหลักไว้อย่างไร

คำว่าสติปัฏฐาน เผลอ เพลิน ลืมหายไป ปึ๊บ มันไปอยู่ตรงไหน ระลึกรู้ ปุ๊บ อยู่ในความคิด กำลังคิด ปึ้บ นี่ รู้แล้ว รู้ว่าไปตกระกำลำบากอยู่กับอารมณ์ ธรรมารมณ์ ไปตกระกำลำบากอยู่ในความคิด

นี่ รู้ สติปัฏฐาน เรียกว่าจิตตานุสติปัฏฐานเกิด ธัมมานุสติปัฏฐานเกิด เวทนานุสติปัฏฐานเกิด เราเขาสุขทุกข์เกิด มีอารมณ์...รู้  พอรู้เบื้องต้นนี่...รู้แล้วด้วยฐานของสติปัฏฐาน ในฐานทั้งสาม

แล้วก็พอรู้แล้วไม่ใช่ไปจดอยู่กับมันอย่างนั้น ไปเพียรเพ่งอยู่กับมันอย่างนั้น ...รู้แล้วต้องกลับมาอยู่ในฐานของศีลสมาธิปัญญาเลย เนี่ย เรียกว่าสติปัฏฐาน

แล้วก็ออกไปอีก ความเผลอเพลินมาดึงออกไป พอรู้แรกเกิดขึ้น...มันไม่ได้รู้แรกลงที่กายนะ ...มันจะรู้ก่อนเลยว่าอยู่ในอารมณ์ อยู่ในความลืม ความหลง มันจะรู้อยู่ในฐานของสติปัฏฐานก่อน

แล้วจะไปดูจนกว่ามันจะจบสิ้นของกิเลสหรือ...ไม่มีทาง ...จะไปดูไอ้ฐานที่ออกมานอกจากกายนี่ คือเวทนา จิต ธรรมนี่ คือฐานของกิเลส มันมาจากฐานกิเลสความปรุงแต่งหมดเลย

เพราะนั้นจะไปดูจนกว่ากิเลสมันจะจบ...ไม่จบ ไม่มีวันจบ มันก็จบเป็นท่อนๆ วรรคๆ ตอนๆ ...แล้วก็รวดไปอีก จบอีก ดับอีก...รวดออกไปอีก จบอีก ก็ไปอีก

นี่ เขาเรียกว่าตีนลอยแล้ว อยู่ในภาวะเลื่อนลอย ตีนลอยแล้ว เอาล่อเอาเถิดกับกิเลส  แล้วก็คอยดูจนกว่ากิเลสมันจะจบ ...มันจะจบได้ยังไง ห๊า

เดี๋ยวก็มีอารมณ์ขึ้นมาใหม่ เดี๋ยวก็เกิดความคิดขึ้นมาใหม่ ความคิดเดิมจบ ก็เกิดความคิดใหม่ขึ้นมา เรื่องราวคนนี้จบ ก็เกิดเรื่องราวคนโน้นใหม่ขึ้นมา

เนี่ย ถามว่าดูไปทำไมน่ะ ไปดูกิเลสทำไม ท่านถึงต้อง...พอนั่นปุ๊บนี่ ต้องกลับมาเอกายนมรรค คือทางสายเอก คือศีลสมาธิปัญญา ...ไม่ใช่ไปเข้าใจว่ามหาสติปัฏฐานคือทางสายเอก

แต่คราวนี้พอมันไปเชื่อวิธีการแห่งจริตถูกจิต ถูกใจกับจริต ว่าเป็นถูกจริตกับจิตตานุสติปัฏฐานแล้ว ทีนี้มันละเลยหมดเลย ศีลสมาธิปัญญามันละเลยไปเลยน่ะ

แล้วไปเข้าใจว่าศีลก็คือสำรวมในสิกขาบทแล้ว สมาทานศีลดีแล้ว แล้ววันนี้ก็ตรวจสอบดูแล้วทั้งอดีตทั้งปัจจุบันไม่ได้ฆ่าสัตว์ไม่ได้โกหก นี่เป็นศีลหลอกๆ หลอกให้อุ่นใจ เข้าใจรึเปล่า หลอกให้อุ่นใจว่า เออ มีศีลแล้วนะ

แต่ถ้าถามว่าอย่างนี้มีศีลไหม นี่ เราถามว่ารู้รึเปล่าว่ากำลังนั่ง ...ถ้ารู้ว่ากำลังนั่งนี่...มีศีลอยู่ กำลังรักษาศีลอยู่  ถ้ากำลังพยายามที่จะไม่ลืมการนั่ง นี่คือพยายามที่จะประคับประคองศีลให้ดำรงคงอยู่

อือ ถ้าพูดอย่างนี้ อธิบายอย่างนี้ พอจะเข้าเค้าหน่อยไหมว่า...ศีลอยู่ที่ไหน ศีลสำคัญอย่างไร แล้วศีลมันมามีหน้าที่ต่อต้านหรือละทิ้งกิเลสได้อย่างไร

นี่ เห็นมั้ย คำจำกัดความของศีลก็จะปรากฏเลยว่า หน้าที่มันตรงต่อศีลเลยโดยตรง คือมันตรงข้ามกับกิเลสโดยตรงเลย ...เมื่อใดมีศีลอยู่ กิเลสน้อยลง ไม่กำเริบ กิเลสไม่กำเริบ

ถ้าเคร่งครัดในศีลยิ่งขึ้น ก็ไปถึงขั้นที่ว่ากิเลสเกิดไม่ได้ เห็นมั้ย อานิสงส์ของศีลก็ไปตามลำดับอย่างนี้ ...แล้วถ้าศีลนี่มันมั่นคงแล้วยังก่อให้เกิดสมาธิจิตหนึ่งน่ะ 

เมื่อเกิดสมาธิจิตเป็นหนึ่งตั้งมั่น ก็เกิดการรู้เห็นในสิ่งที่มันกำลังปรากฏของกายตามความเป็นจริงแล้ว ...นี่ นี่เรียกว่าลบล้างกิเลสแล้ว ไม่ใช่กิเลสเกิดไม่ได้อย่างเดียว มันเข้าไปลบล้างกิเลสอีกด้วยซ้ำ

แล้วเราถามว่าดูจิตนี่มันลบล้างกิเลสในวิธีการไหน หือ มีแต่คอยดัก คอยจับ คอยจ้องว่ามันจะเกิดอะไรบ้างเดี๋ยวนี้ แล้วก็เพื่อจะดูมันตลอดสายให้มันหยุดแล้วก็ดับ..ว่าได้ผลแล้ว

เนี่ย แค่นี้ ไปเอาเป็นหลักไม่ได้ ...จะต้องเอาศีลสมาธิปัญญาเป็นหลัก หรือถ้าเป็นสติปัฏฐานก็ต้องเอากายานุสติปัฏฐานนี่เป็นหลัก เพราะมันไปแมทช์ตรงกันศีลสมาธิ


(ต่อแทร็ก 16/30)